ไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ ยันยุบสภาไม่ช่วยแก้ปัญหา
“รสนา” แนะใช้วิกฤตเป็นโอกาส เปิดช่องให้คนรากหญ้าออกมาพูดปัญหาด้วยตัวเอง ย้ำชัดวันนี้หมดยุคการดูถูกทางด้านชนชั้นแล้ว “พงษ์เทพ” บอกทุกคนต้องหันมาเคารพกฎหมาย และแก้กฎหมายให้เกิดความเท่าเทียม
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ แถลงข่าวการจัดงานครบรอบชาตกาล 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร ชั้น 1 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง “ก้าวข้ามวิกฤตด้วยอภิวัฒน์สู่สันติ” โดยมี นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา , นางสาวรสนา โตสิตระกูล , นางสุนีย์ ไชยรส , นางวิภา ดาวมณี และดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เข้าร่วมเสวนา
นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงทางออกของวิกฤตบ้านเมืองขณะนี้ว่า ต้องมีการอภิวัฒน์ ตามอย่างที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เคยพูดไว้ว่า อภิวัฒน์ คือการช่วยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เพียงการปฏิวัติอาจไม่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรม เพราะการปฏิวัตินำไปสู่การถอยหลัง และการที่จะเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ได้นั้น ต้องครบทั้งสามส่วน คือ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
“ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดขึ้นเป็นฉบับแรก ทำให้เกิดช่องว่างของประชาชนอย่างมาก การไปมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าภาคเกษตรกรรม โดยเชื่อมั่นทางโครงสร้างมากกว่ามวลชน ทำให้โครงสร้างระบบการปกครองเกิดความไม่เป็นธรรม เชื่อในศักดิทุน มากกว่าตัวบุคคล คนรวยมีสิทธิ์มากกว่าคนจน ซึ่งถ้าหากเราไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจแล้ว ประชาธิปไตยทางการเมืองก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันสังคมวัฒนธรรมเองก็จะมีอุปสรรคในการแบ่งแยกชนชั้นให้เกิดขึ้น”
นางรสนา กล่าวถึงการยุบสภาที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง ยังไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง เป็นเพียงทางออกและสร้างหลักเกณฑ์ให้คนหนึ่งออกไปจากอำนาจ และเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเท่านั้น เนื่องจากระบบการเมืองไทยยังเป็นระบบตัวแทน น้อยมากที่มาจากประชาชนโดยไม่ผ่านพรรคการเมือง
“ทางที่ดีขณะนี้ควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ให้คนรากหญ้าออกมาพูดเรื่องปัญหาของเขาเอง เสียงจากอิสระชนที่ดี จะช่วยให้รู้ถึงปัญหาจากประชาชนในการเคลื่อนขบวนต่อต้านในครั้งนี้อย่างแท้จริง วันนี้หมดยุคการดูถูกทางด้านชนชั้น จากวาทกรรม ไพร่ อำมาตย์ แล้ว ควรทำให้เกิดเป็นความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ที่จะได้พูดและแสดงออกความคิดเห็นอันเป็นประชาธิปไตย”
ด้านนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ ไม่ใช่เพียงเรื่องเดียว แต่มีต้นเหตุเดิมเป็นทุนอยู่แล้ว ทั้งจาก 1.การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ผลคือความแตกต่างทางด้านการกระจายรายได้ การจัดสรรเรื่องอำนาจที่หนักไปข้างหนึ่ง และการเข้าถึงแหล่งทุนของกลุ่มคนรากหญ้าที่พบช่องว่างทางชนชั้นอยู่มาก 2.การใช้อำนาจนอกระบบ แทรกแซงอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีผลคือ การช่วงชิงอำนาจอธิปไตย สู่กลุ่มคนเล็กๆในสังคม ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของหลายภาคส่วน
“การปรับเปลี่ยนการเมืองไทย ต้องใช้สติและมีเหตุผล ให้โครงสร้างอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ส่วนปัญหาของโรคแทรกนั้น เป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะลงโทษคนเพียงบางคน แต่ทุกคนต้องหันมาเคารพในกฎหมาย และแก้กฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมแก่คนทุกชนชั้น”
ขณะที่ นางสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีบทเรียนจากการเปลี่ยนรัฐบาลมากมาย ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขถึงปัญหาระบบโครงสร้างเชิงลึกได้ แต่สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือ ต้องคัดค้านความรุนแรง และนำไปสู่ความสันติ ให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน เรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์ และไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้นใดๆในสังคม