‘โคทม’ เสนอเปิดพื้นที่สื่อทีวี เจรจาคลี่คลายวิกฤติ
ส่วนการยุบสภายังไม่ควรพูดถึงขณะนี้ ด้านศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ เชื่อการเจรจาที่ดีต้องตัดเงาของแต่ละฝ่ายออก หันหน้ามาพูดความจริง กรอบการพูดคุยต้องไม่มุ่งประเด็นของคนที่อยู่เบื้องหลัง
วันนี้ (22 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนา “แผนที่ทางออกจากวิกฤตการเมืองไทย” เพื่อเปิดโอกาสแก่ทุกฝ่ายมีพื้นที่พูดคุยเจรจา คลี่คลายความขัดแย้ง จากทุกความเห็นที่แตกต่างและเดินทางออกจากวิกฤติการเมืองไทย ณ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ
นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี กล่าวว่าสื่อต้องเป็นตัวกลางสำหรับการเจรจา เปิดใช้พื้นที่สำหรับการเจรจาของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดข้อตกลงและทางออกร่วมกัน โดยสื่อต้องให้เวลาแต่ละฝ่ายออกมาชี้แจง เน้นหลักของความจริง บอกเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายที่ต้องการ เชื่อว่าจะทำให้เราสามารถข้ามพ้นไป และแก้ปัญหาความขัดแย้งไปได้ทีละเปราะ
“อารมณ์ของแต่ละฝ่ายตอนนี้รุนแรง ต้องให้ความเข้าใจกัน การยอมความกัน โดยไม่ต้องกลัวความผิด และคิดโยนว่าแต่ละฝ่ายอยากเจรจาหรือไม่ ซึ่งต้องใจเย็น เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน การหาคำตอบว่า ทำไมต้องมีการมาชุมนุมของกลุ่มเสื้อ และรับฟังความเห็นร่วมกันแต่ละฝ่าย อาจจะใช้สื่อกลางอย่างช่อง 11 หรือสื่อสาธารณะอย่างช่อง ทีวีไทย ซึ่งถึงวันนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และแกนนำกลุ่มเสื้อแดงอย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ อาจจะยอมพูดคุยกัน แต่ในวันนี้ยังไม่ถึงจุดๆนั้น มีเพียงแต่การคุยกันไปนอกรอบ แต่ไม่ใช่การพูดคุยกันในเชิงตอบโต้”
นายโคทม กล่าวถึงสิ่งที่อยากเห็น คือ กลุ่มเสื้อแดงบอกถึงเหตุผลการออกมาเรียกร้อง และรัฐบาลก็ต้องออกมาพูดคุยถึงเหตุผลความเป็นไปได้ รับฟังพื้นที่เดือดร้อน และให้โอกาสฝ่ายเสื้อแดงซึ่งก็ต้องเตรียมมาให้ดีว่า เดือดร้อนอย่างไร สิ่งไหนผิดถูกประชาชนก็จะตัดสินเอง เชื่อว่า จะเกิดการสนับสนุนและโต้แย้งโดยอัตโนมัติ
ส่วนการยุบสภา จะเป็นทางออกจากวิกฤตการเมืองไทยหรือไม่นั้น นายโคทม กล่าวว่า การยุบสภาขณะนี้เป็นเงื่อนไขที่ไม่ควรจะพูดถึง สิ่งที่ควรจะตระหนัก คือ ทางออกของวิกฤตประเทศ การยุติความรุนแรง และเห็นว่ามี 3 เรื่องหลักที่ต้องทำ คือ 1. ต้องมีการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ 2.ต้องนำเสนอเรื่องสันติวิธีให้เกิดการแพร่หลาย ทำความเข้าใจข้อมูลของแต่ละฝ่ายให้มาก 3.การจัดตั้งกลุ่มที่เป็นแกนกลาง เพื่อรับฟังความคิดเห็น และหาทางออกที่ถูกต้องร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทางการ แต่หากพูดคุยไปเรื่อยๆ จะช่วยให้เกิดเป็นข้อตกลงที่ดีขึ้น
“กลุ่มเครือข่ายทางสันติ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังไม่ใช่คนกลาง แต่พยายามให้เกิดกระบวนการ ให้อยู่ในสายตาของสื่อ ซึ่งต้องทำต่อไป อาจจะทำอย่างไม่เป็นทางการ แต่เพียงเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์บางอย่าง เช่น หากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. )ต้องการพื้นที่สื่อในการพูดคุย ก็ต้องจัดเตรียม และต้องมาพูดคุยกัน และสร้างทักษะให้แต่ละฝ่ายยอมคุยกันให้มากขึ้น เพื่อจะเกิดทางออกที่ดีร่วมกันของชาติ”
ด้านนายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การเปิดให้ใช้พื้นที่สื่อในการแลกเปลี่ยนและพูดคุยเจรจาว่า กรอบการพูดคุย ต้องไม่มุ่งประเด็นของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังว่ามีอิทธิพลสูงกับการเกิดเหตุวิกฤตชุมนุม การเจรจาที่ดีควรตัดเงาของแต่ละฝ่ายออก และหันหน้ามาพูดความจริง จะได้ในสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการ ถ้าตัดการเชื่อมโยงของผู้อยู่เบื้องหลัง เชื่อมั่นว่าต้องเดินหน้าไปได้ด้วยดี
“การพูดยั่วยุจะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น จากภาพข่าว การสร้างกระแสความรุนแรงของแต่ละฝ่าย ที่อ้างมาว่าได้มาจากข่าวกรอง ทำให้คน กทม.และคนทั่วไป เริ่มมีความหวาดกลัวหวั่นวิตกความรุนแรง และหันหน้ามาใช้สันติวิธีเพิ่มมากขึ้น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นคือ ตอนนี้ สีแดง สีเหลือง และอีกหลายฝ่าย เริ่มเข้าใจว่าการสามารถทำให้คนไม่เผชิญหน้า ไม่เกลียดชัง ไม่เอาชีวิตกัน คือ ช่องทางการที่จะนำไปสู่การเจรจาและทางออก เพราะในตอนนี้การนำเสนอข่าวของสื่อ อาจจะชี้โยงไปที่ความรุนแรงอันเกิดมาจากกลุ่มเสื้อแดง หรือเกิดเหตุการณ์ยิงระเบิด M79 มากกว่าการนำเสนอทางออกทางการเมือง ซึ่งการแก้เหตุจริงๆแล้ว ต้องดูที่การชักใยของกลุ่มเบื้องหลังด้วย ว่าสามารถคุยกันได้แค่ไหน”
ขณะที่นายโอภาส เพ็งเจริญ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเกิดประชาธิปไตย เกิดจากความหลากหลาย และมีความขัดแย้ง ตอนนี้เราต้องหันมาทำความเข้าใจว่า ความรุนแรงคืออะไร ไม่มีใครพูดถึงตัวต้นเหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง ถึงปัญหาที่มีการบ่มเพาะมานาน ทั้งเรื่องของ 2 มาตรฐาน กระบวนการยุติธรรม
“สิ่งที่เครือข่ายสันติวิธี ควรที่จะสร้างให้เกิด คือ สร้างตัวขัดเกลาที่จะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนไป โดยใช้ดัชนีชี้วัด คือ วัฒนธรรมร่วมของสังคม แม้การชุมนุมยิ่งยืดเยื้อ สื่อมวลชนยิ่งเข้มแข็ง การมาด้วยความเชื่อ การเปิดรับความเห็นที่แตกต่าง วัฒนธรรม เป็นการสร้างให้เราสามารถเข้าถึงประเด็นได้จริงๆ การออกมาพูดมุมมองทางการเมืองเป็นอย่างไร เชื่อว่าแก้ปัญหาได้ และเปิดเวทีหาทางออกร่วมกัน โดยเป็นเรื่องของคนทั้งชาติ ต้องเรียนรู้ว่า สิ่งที่ออกมาเรียกร้อง คืออะไร มากกว่าจับประเด็นความเผ็ดร้อนของสถานการณ์”