เปลี่ยนประเทศไทยให้มี “สวัสดิการชุมชน” เต็มแผ่นดิน
นอกจากคนในระบบราชการและประกันสังคม ยังมีคนอีก 27 ล้านคนไม่มีสวัสดิการรองรับ แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าหมายสวยหรูว่าทุกคนต้องมีสวัสดิการในปี 2560 แต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลแค่ไหน และเป็นไปได้หรือ? นี่เป็นคำตอบว่าทำไมต้องผลักดัน “สวัสดิการชุมชน” เพื่อนำไปสู่ “สวัสดิการเต็มแผ่นดิน”
ต้องใช้งบประมาณเท่าไร จึงเกิดสวัสดิการถ้วนหน้าที่รัฐบาลวาดไว้สวยหรู?
เฉพาะการรักษาพยาบาลฟรีในปัจจุบัน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประมาณการว่าในปี 2555 ต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 398,000 ล้านบาท การเรียนฟรีรัฐบาลต้องจ่ายอีก 98,000 ล้านบาท นี่แค่เฉพาะการจัดสวัสดิการบางเรื่องรัฐบาลต้องหาเงินอีกกว่า 103,000 ล้านบาทในปีเดียว นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวที่รัฐบาลต้องจ่ายถึง 62,000 ล้านบาทในปี 2553 (สูงกว่าที่ตั้งไว้ 48,500 ล้านบาท) นี่ยังไม่รวมรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี น้ำประปาฟรี ไฟฟ้าฟรี (4 รายการนี้ใช้เงินกว่า 32,000 ล้านบาทในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา) การประกันรายได้เกษตรกรอีกปีละกว่า 55,000 ล้านบาท
คำถามคือรัฐบาลจะเอางบประมาณเหล่านี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่ภาษีประชาชน หรือกู้เงินต่างประเทศ?
ในประเทศที่มีสวัสดิการถ้วนหน้าแถบยุโรปและแสกนดิเนเวีย ประชาชนต้องจ่ายภาษีประมาณ 40-50% ของรายได้ในแต่ละเดือน ถ้าเราต้องการให้คนไทยทุกคนมีสวัสดิการทุกอย่างเท่าเทียมกันหมดเหมือนอย่างข้าราชการ แต่เราต้องถูกหักรายได้ครึ่งหนึ่งของทุกเดือน เราจะยอมกันไหม?
“สวัสดิการถ้วนหน้า” คำตอบอยู่ที่ “สวัสดิการชุมชน”
แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีกลุ่มออมทรัพย์หรือองค์กรการเงินชุมชนในชื่อเรียกอื่นๆไม่น้อยกว่า 40,000 กลุ่ม กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่นำกำไรมาจัดสวัสดิการให้สมาชิก ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะมีโครงการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งสามารถเป็นโครงข่ายรองรับทางสังคมให้กับคนด้อยโอกาสมากมาย เพราะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด มีคนตายกองทุนสวัสดิการจ่ายให้ เด็กเกิดใหม่จ่ายให้ทั้งแม่ลูก มีทุนการศึกษา น้ำท่วม ไฟไหม้ ดินถล่ม กองทุนสวัสดิการช่วยเหลือ คนเฒ่าคนแก่ก็ได้รับการช่วยเหลือ ฯลฯ
ประมาณปี 2548 เครือข่ายองค์กรชุมชน ยกระดับจากสวัสดิการออมทรัพย์โดยจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล มี 191 ตำบลนำร่อง กำหนดให้เป็นระบบสวัสดิการสามเส้า คือมีการสมทบจากจากสมาชิก (ส่วนใหญ่สมทบวันละ 1 บาท) จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจากรัฐบาลส่วนกลางผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการระดับตำบลหรือเมืองขึ้นแล้วกว่า 3,500 กองทุน มีสมาชิกกว่า 2.6 ล้านคน เงินกองทุนกว่า 2,000 ล้านบาท
ปี 2552 เครือข่ายสวัสดิการชุมชนเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการตามจำนวนสมาชิกกองทุน โดยคิดหัวละ 1 บาท/วัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ในปี 2553 จำนวน 725 ล้านบาท (รวมการส่งเสริมกองทุนใหม่และการพัฒนา) และจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องปีที่สองในปี 2554 อีก 800 ล้านบาท
ถึงเดือนเมษายน 2554 มีการสมทบงบประมาณให้กองทุนสวัสดิการแล้ว 2,654 กองทุน มีคนรับประโยชน์ 1.4 ล้านคน และมีการอนุมัติงบประมาณสมทบปีที่ 2 แล้ว 516 กองทุน 52.12 ล้านบาท
รัฐบาลใช้เงินเพียง 700 กว่าล้านบาท ทำให้คนในชุมชน 1.5 ล้านคนได้รับการคุ้มครองจากระบบสวัสดิการชุมชน
“สวัสดิการ” ชุมชนทำเองคุ้มค่ากว่า
ผลการวิเคราะห์เม็ดเงินในกองทุนสวัสดิการชุมชน 2,656 กองทุนพบว่าเงินร้อยละ 73 เป็นเงินที่สมาชิกสมทบ ไม่ใช่รัฐบาลจ่าย 100% เหมือนอย่างโครงการประชานิยมทั้งหลาย นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลต้องการให้คน 2.6 ล้านคน ที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการใน 3,500 ตำบล/เมืองได้รับการคุ้มครองจากระบบสวัสดิการชุมชน รัฐบาลจะใช้งบประมาณสมทบสมาชิกต่อปีคนละ 365 บาท เพียง 949 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
บางกองทุนสวัสดิการชุมชนในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 6,300 คน(ค่าเฉลี่ยอยู่ที่กองทุนละ 750 คน) บางกองทุนสามารถจัดสวัสดิการให้สมาชิกมากกว่า 22 ประเภท ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปจนถึงทุนการศึกษา และเงินช่วยเหลือคนด้อยโอกาส คนพิการ ฯลฯ กองทุนสวัสดิการที่มีการสำรวจข้อมูลครบถ้วนดังกล่าวมีการจัดสวัสดิการให้สมาชิก 13 ประเภท แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังเป็นเรื่องเกิดแก่เจ็บตายอยู่ แต่ร้อยละ 30 บอกว่ามีการจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ร้อยละ 31 จัดสวัสดิการเพื่อการศึกษาและร้อยละ 6 ช่วยกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในชุมชน ในขณะที่ร้อยละ 4 หรือกว่า 100 กองทุนบอกว่ามีกองทุนช่วยเหลือภัยพิบัติ
การที่เงินกว่าร้อยละ 70 เป็นของชาวบ้าน นอกจากจะมีความหมายว่ารัฐบาลจ่ายเงินสมทบเพียงนิดเดียวแล้วยังหมายถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนสูงกว่าเงินแจกฟรีจากรัฐบาล และธรรมชาติที่สำคัญของกองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วคือ มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันตามสภาพปัญหาความต้องการของแต่ละพื้นที่ และองค์กรชุมชนเป็นผู้บริหารเอง ออกระเบียบเอง ยกเลิกระเบียบเอง ไม่มีการรวมศูนย์การบริหารจัดการไปไว้ที่ส่วนกลาง ที่ระดับชาติ ดังเช่นกองทุนสวัสดิการสารพัดชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
คิดใหม่ ทำใหม่ นโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า
ปัจจุบันมีความคิดเรื่องกองทุนสวัสดิการระดับชาติหลายกองทุน กับหลายกลุ่มเป้าหมาย แต่จุดอ่อนอันยิ่งใหญ่ของกองทุนเหล่านี้คือ เป็นการดูดเงินประชาชนมาไว้ที่ส่วนกลาง ให้เจ้าหน้าที่รัฐเจ้าหน้าที่กองทุนที่กินเงินเดือนแพง ๆไม่กี่คนมีอำนาจบริหารจัดการ เอาเงินไปลงทุนโน่นนี่ (บางทีก็ขาดทุน) หนำซ้ำกองทุนสวัสดิการรวมศูนย์แบบนี้ทำให้ชุมชนอ่อนแอ ไม่ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งแม้แต่น้อย
ในทางตรงข้ามกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งขึ้น มีกรรมการบริหารกองทุนเฉลี่ยกองทุนละ 25 คน นั่นหมายความว่าขบวนสวัสดิการชุมชนของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยกำลังคนกว่า 87,000 คน เม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสมทบเอง รับประโยชน์เอง รัฐช่วยบ้าง ปีไหนรัฐถังแตกกองทุนสวัสดิการชุมชนก็ยังเดินต่อได้บนพื้นฐานของการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”
อย่างนี้นี่แล้ว เราจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่สนับสนุนให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนเต็มแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ทุกคนมีสวัสดิการถ้วนหน้าในปี 2560.