ศุลกากรปลื้มผลสำรวจความโปร่งใส-ธรรมาภิบาลปรับตัวดีขึ้น
หอการค้าไทย เผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของกรมศุลกากร พบภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 83 ไม่เคยพบขรก.แสดงท่าทีส่อไปในการเรียกร้องทรัพย์สิน
หลังจากที่กรมศุลกากรได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของกรมศุลกากร (ศปธ.) เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการปฏิบัติราชการของกรมศุลกากร และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของกรมศุลกากร (กปธ.) เพื่อให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทางส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลฯ รวมทั้งวินิจฉัยเรื่องที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการดำเนินงานของกรมศุลกากร โดยมีนายยุวรัตน์ กมลเวชช อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธาน
วันนี้ (18 มี.ค.) นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาผลสำรวจความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของกรมศุลกากร ทั้งนี้ กปธ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของกรมศุลกากร จากมุมมองของภาคธุรกิจ และข้าราชการกรมศุลกากร
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจผู้ประกอบการและผู้ที่มาติดต่อราชการกับกรมศุลกากร จำนวน 212 ตัวอย่าง ในกรณีที่มีการติดต่อกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.0 ไม่เคยพบว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ แสดงท่าทีที่ส่อไปในการเรียกร้องทรัพย์สินหรือสิ่งของตอบแทนเพื่อกระทำหรือละเว้นการกระทำบางประการ มีเพียงร้อยละ 17.0 เท่านั้นที่เคยพบเห็นโดยอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสินค้า หรือในกระบวนการที่ต้องดำเนินการเป็นระยะเวลานาน
ส่วนเรื่องการติดต่อแล้วข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่แสดงเจตนาในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.7 ไม่เคยพบกับเหตุการณ์ดังกล่าว มีเพียงร้อยละ 14.3 เท่านั้นที่เคยพบโดยการให้รอคิวนาน ไม่ได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรม หรือในกรณีที่บริษัทใหญ่มาจะได้รับบริการที่รวดเร็วกว่า เป็นต้น
สำหรับภาพลักษณ์ในเรื่องความโปร่งใสของกรมศุลกากรในปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 49.3 ระบุว่าปรับตัวดีขึ้น ร้อยละ 47.4 ระบุว่าไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องความพึงพอใจกับความซื่อสัตย์สุจริตของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 ระบุว่าพอใจ(ร้อยละ 9.6 ระบุว่าพอใจในระดับมาก ร้อยละ 29.3 ระบุว่าพอใจ และร้อยละ 52.9 ระบุว่าพอใจในระดับปานกลาง) ร้อยละ 8.2 ระบุว่าไม่พอใจ (ร้อยละ 7.2 ระบุว่าไม่พอใจ ร้อยละ 1.0 ไม่พอใจมาก)
ส่วนสาเหตุสำคัญของปัญหาคอรัปชั่นในกระบวนการศุลกากรในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในสาเหตุที่มีการปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้น พบว่า ร้อยละ 52.9 ระบุว่ามีความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการปรับตัวดีขึ้น ร้อยละ 40.7 ระบุว่ามีความรับผิดชอบและประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมากขึ้น ร้อยละ 39.8 ระบุว่ามีกฎระเบียบพิธีการศุลกากร และขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นระบบมากขึ้น ร้อยละ 32.4 ระบุว่ามีโครงสร้างพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่เป็นระบบมากขึ้น
และเมื่อสอบถามถึงความคาดหวังในการให้บริการ พบว่า กลุ่มตัวอย่างคาดหวังในเรื่องของตัวเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ให้บริการร้อยละ 85.9 โดยต้องการให้เจ้าหน้าที่ให้บริการที่ซื่อตรง เต็มใจให้บริการ และตรงต่อเวลา รองลงมาร้อยละ 81.6 และ 62.2 ต้องการให้มีกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ กรมศุลกากรจะนำไปปรับปรุงการดำเนินงานของกรมศุลกากรให้มีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ยิ่งขึ้น