ยุติการชุมนุม ไม่ใช่ความพ่ายแพ้
รศ.ดร.ศรีประภา นักสิทธิมนุษยนชน ม.มหิดล เสนอมุมมองความสำเร็จการชุมนุม ไม่ได้อยู่ที่ข้อเรียกร้องได้รับการปฏิบัติตาม แต่อยู่ที่ว่า ได้ก่อผลสะเทือนอย่างไร ชี้การยุติการชุมนุมเมื่อมีเสียงเรียกร้องได้ยิน จึงไม่ถือว่า เป็นความพ่ายแพ้ของผู้ชุมนุมและไม่ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายรบ.
ในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง“เส้นทางการเมืองไทยกับวิกฤตความชอบธรรม” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย (Thailand Democracy Watch) และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (17 มี.ค.) มีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.สิริพรรณ นกสวน-สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,รศ.ดร.ชลิดาพร ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และผศ.ดร.พวงทอง ภวัคพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่การเสวนา รศ.ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ส่งแฟ็กซ์แสดงความเห็นในหัวข้อ “การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การยุติการชุมนุมไม่ใช่ความพ่ายแพ้” ดังนี้
1.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้พานักศึกษาสาขาสิทธิมนุษยชน ที่มหาวิทยาลัยมหิดลไปศึกษาภาคสนาม ที่ภาคเหนือ โดยเน้นพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน ในพื้นที่เชียงใหม่ เราศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติและการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยเฉพาะชาวไทยใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน และไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเป็นเช่นไร เพราะเขาไม่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย เฉพาะพื้นที่ลำพูนนั้น เราได้พบปะแลกเปลี่ยนกับสองกลุ่ม คือกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ทำกิน และกลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งขณะนี้มีเพียงสองสหภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน
นักศึกษาทั้งหมดซึ่งประมาณ 80% เป็นนักศึกษานานาชาติตั้งคำถามมากมายและแสดงความรู้สึกสะเทือนใจว่า ในประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงขนาดนั้นหรือ และดูเหมือนไม่มีการแก้ไขใดๆ เลยทั้งๆที่นั่นคือความทุกข์ของประชาชนกลุ่มใหญ่ในประเทศ จะว่าไป การละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านั้น ถูกมองข้ามจากคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
2.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความกังวลของรัฐบาลคือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง รัฐบาลมักใช้เวลาไปกับการวางแผนรับมือการเคลื่อนไหว ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงก็ใช้เวลาคิดหาหนทางในการจัดการกับรัฐบาลที่ถือว่า ไม่มีความชอบธรรมในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง
3.จะว่าไปแล้ว ข้อเรียกร้องบางประการไม่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ขาดความชอบธรรม แต่ที่เป็นปัญหาน่าจะอยู่ที่ความชอบธรรมจริงๆ คืออะไร ใครจะมีความชอบธรรม หากสิ่งที่ปรากฎในบ้านเมืองในขณะนี้ คือการละเมิดสิทธิมนุษยนชน และประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะเป็นภาคเหนือหรือภาคใต้ หรืออีกหลายๆ พื้นที่ในประเทศมักจะถูกลืม หรือถูก Overshadow โดยเหตุการณ์ทางกาเมือง
4.การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.หรือที่เรียกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่ดำเนินมานับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา และยังคงดำเนินต่อไปในขณะนี้ ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน สามารถกระทำได้ ภายใต้กรอบของทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธพลเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา การเรียกร้องยังถือว่าอยู่ในกติกาของกรอบกฎหมาย มีความพยายามที่จะป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มีแนวทางการประท้วงใหม่ๆ ที่ไม่เรียกว่า เป็นความรุนแรง หากแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรงในสายตาคนทั่วไป
5. ข้อเรียกร้องของดิฉันก็คือ
ก. ไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีความพยายามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมักถูกย่ำยีโดยรัฐประหาร ความพยายามของบางพรรคการเมือง จึงถือว่า เป็นความพยายามตามวิถีการเมืองแบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการแก้ไขกลับไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความชอบธรรม จึงอยู่ที่การร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่จะทำให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นมรรคเป็นผลยิ่งขึ้น
ข. การเมืองแบบประชาธิปไตยที่เป็นที่เข้าใจกันในนานาอารยะประเทศ คือระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และการตัดสินใจในทุกระดับ และต้องเป็นการเมืองที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ถูกมองข้ามจากทุกฝ่ายอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ชุมนุม จึงควรทบทวนว่า สิ่งที่เกิดในปัจจุบันใครได้ประโยชน์ และใครเป็นผู้สูญเสีย
ค. ดิฉันยังยืนยันว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการชุมนุม อาจไม่ได้อยู่ที่ว่า ข้อเรียกร้องได้รับการปฏิบัติตามทันทีทันใด แต่อยู่ที่ว่า ได้ก่อผลสะเทือนอย่างไร ดังนั้นการยุติการชุมนุมเมื่อมีเสียงเรียกร้องได้ยิน จึงไม่ถือว่า เป็นความพ่ายแพ้ของผู้ชุมนุมและไม่ถือว่า เป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล
ง. ชัยชนะที่แท้จริงในการเรียกร้องใดๆ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนรู้สึกว่า ความเดือดร้อนของตนได้รับการแก้ไขและสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครอง แต่หากไม่ได้เกิดผลดังกล่าวก็ถือว่า เป็นความพ่ายแพ้ของทุกฝ่าย