กสม. -แกนนำนปช.หารือแนวทางสันติป้องกันความรุนแรง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมข้อตกลงเพื่อการเคารพสิทธิเสรีภาพและสันติวิธีในการชุมนุมกับแกนนำกลุ่ม นปช.พร้อมเป็นคนกลางส่งข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมถึงมือรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (16 มี.ค.) ว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ดร. ปริญญา ศิริสารการ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมประชุมกับแกนนำ นปช. ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย เพื่อหาแนวทางสันติป้องกันความรุนแรงในการชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพการและหลักสิทธิมนุษยชน
โดยแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมยินดีอย่างยิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอแนวทางการปฏิบัติของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดำเนินไปตามสิทธิเสรีภาพด้วยความสันติโดยจะปฏิบัติการชุมนุมตามข้อตกลง และขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นคนกลางส่งข้อมูลแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงและข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมไปสู่รัฐบาลด้วย
ต่อมาเวลา 15.45 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นำกระเช้าผลไม้เข้าเยี่ยม จ.ส.อ. ปรีชา ปานสมุทร ผบ.กองรักษาการณ์ และพลทหารหนุ่ม ศรีเฟื้อง ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด M 79 ที่คนร้ายยิงเข้าไป กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 โดยมีตัวแทนกองทัพบกเป็นผู้รับกระเช้าผลไม้
สำหรับข้อตกลงเพื่อการเคารพสิทธิเสรีภาพและสันติวิธีในการชุมนุม โดยที่ตระหนักถึงความห่วงใยและความปรารถนาดีในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางที่จะให้เกิด ความสงบและสันติในสังคมไทย หลีกเลี่ยงมิให้เกิดความรุนแรงจากการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการที่ยังไม่มีกฎหมายที่สามารถใช้อ้างอิงเป็นกรอบกติกาสำหรับทุกฝ่ายเกี่ยวกับเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรอง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงเสนอข้อตกลงเพื่อการเคารพสิทธิเสรีภาพและ สันติวิธีในการชุมนุม ดังนี้
1.การชุมนุม
การชุมนุมจะเป็นไปโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ และคำนึงถึง ความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
2. เขตพื้นที่การชุมนุม
2.1 จะไม่ชุมนุมในรัศมี 500 เมตร โดยรอบสถานที่ประทับ
2.2 จะไม่มีการขัดขวางการเข้า-ออกของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ และประชาชนที่ต้องเข้าไปใช้บริการของสถานที่ต่อไปนี้
2.2.1) อาคารรัฐสภา
2.2.2) ทำเนียบรัฐบาล
2.2.3) สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล และสถานที่ตั้งของหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ
2.2.4) โรงพยาบาล
2.2.5) สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถใต้ดิน สถานีขนส่ง
3. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อผู้ชุมนุม
3.1 มีหน้าที่คุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
3.2 มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข และศีลธรรมของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว หากต้องจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม จะกระทำเท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์ ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และสอดคล้องกับหลักการขั้นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับของสากล
3.3 จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม หากเกิดกรณีที่การชุมนุมมีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบหรือความรุนแรง จะใช้มาตรการที่ละมุนละม่อม และหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ