ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี แนะสาธารณชนช่วยการชุมนุมเป็นไปโดยสันติ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันต้นกล้า, เครือข่ายพุทธิกา, เครือข่ายครอบครัว, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ, กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี, Thai Poet Society นำเสนอประเด็นต่อสาธารณชนเรื่องการชุมนุมโดยสันติ ดังนี้
การชุมนุมโดยสันติและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของสาธารณชนด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมีอยู่ 3 ฝ่ายคือ ผู้ชุมนุมเอง ฝ่ายรัฐผู้มีหน้าที่ดูแลการชุมนุม และสาธารณชนที่อาจได้รับผลกระทบ (ทั้งนี้ไม่รวมถึงฝ่ายอื่นที่อาจเข้ามาแทรกแซงหรือหันเหการชุมนุม) สองฝ่ายแรกล้วนประกาศว่าจะยึดมั่นในสันติวิธี ส่วนสาธารณชนเอง ก็ไม่น่าจะมีผู้ใดที่ประสงค์จะให้เกิดความรุนแรง ในทางตรงข้าม สาธารณชนอยากได้รับความมั่นใจจาก สองฝ่ายแรกว่า ได้มีการเตรียมการที่ดีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งได้เตรียมมาตรการไว้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทันท่วงที หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี สาธารณชนยังอาจมีบทบาทที่จะช่วยให้การชุมนุมเป็นไปโดยสันติได้ด้วย
สาธารณชนในฐานะผู้เฝ้าดูที่รู้เท่าทัน
การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน การชุมนุมครั้งนี้เป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างรัฐบาล กับข้าราชการที่ทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายค้าน ร่วมกับ นปช. อีกฝ่ายหนึ่ง สาธารณชนคือผู้เฝ้าดูการแข่งขันทางการเมืองโดยเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญด้วย เพื่อให้รู้เท่าทันการแข่งขันทางการเมือง สาธารณชนพึงรู้เท่าทันกติกาการชุมนุมอย่างสันติ หมายความว่าสาธารณชนจะต้องสามารถแสดงออกหากมีความพยายามหรือมีการละเมิดกติกาเกิดขึ้น กฎหมายบ้านเมืองคือกติกาพื้นฐาน แต่ผู้ชมพึงเฝ้าดู เจตนาและพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายที่จะร่วมมือกันป้องกันความรุนแรง มิใช่ต่างฝ่ายคอยแต่จะขอความเห็นใจและโทษอีกฝ่ายโดยหวังตบตาผู้ชม ในที่นี้ ขอเสนอข้อคิดเห็นบางประการประกอบการเฝ้าดูการชุมนุมเพื่อความรู้เท่าทันดังนี้
· ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าเหนือทรัพย์สินหรือสิ่งอื่นใด
· การใช้วาจายั่วยุให้เกิดความเกลียดชังจนถึงขั้นพร้อมทำร้ายผู้อื่นไม่ใช่สันติวิธีและน่าจะผิดกฎหมายด้วย
· การควบคุมฝูงชนต้องมีระเบียบและขั้นตอนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และใช้วิธีการตามกรอบของกฎหมายโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง หากจำเป็นจึงใช้ความรุนแรงน้อยที่สุด เพียงเพื่อระงับความรุนแรงที่ร้ายแรงกว่าเท่านั้น
สาธารณชนในฐานะผู้สื่อสารเพื่อป้องกันความรุนแรง
ในระบอบประชาธิปไตย สาธารณชนควรมีการถกแถลงกัน (deliberation) เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้ดี เมื่อมีการชุมนุมครั้งใหญ่ นอกเหนือจากการถกแถลงเพื่อชั่งน้ำหนักเหตุผลของแต่ละฝ่ายแล้ว สาธารณชนพึงถกแถลงว่าตนสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงได้อย่างไรหรือไม่ด้วย ในการนี้อาจเริ่มต้นที่ตนเองก่อน เช่น
· ฝึกการมีสติและการรักษาระยะห่างทางอารมณ์
· ฝึกการฟังและการไม่ด่วนตัดสิน
· ฝึกขันติธรรมหรือความทนกันได้โดยเข้าใจว่าทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ต่างมีความเดือดเนื้อร้อนใจ ถึงเราอาจได้รับผลกระทบหรือมีความเดือดร้อนบ้าง ก็ควรมีความเห็นใจและอดทน มิใช่เห็นดีหรือเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงเพื่อให้เรื่องจบลงโดยไวโดยไม่นำพาการแก้ไขปัญหา ฯลฯ
สาธารณชนพึงแสดงออกว่าไม่ต้องการความรุนแรง โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น
· ใช้อินเทอร์เน็ต (อีเมล์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสันติวิธีและการชุมนุมโดยสงบ
· ใช้การโทรศัพท์ หรือ เอสเอ็มเอส เข้าไปในรายการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการไม่ใช้ความรุนแรง
· ใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่นการแต่งกายที่มีหลายสี เพื่อแสดงออกว่าไม่ยึดติดหรือคล้อยตามฝ่ายใดไปทั้งหมด หากรู้จักคิดอย่างรอบคอบและแยบคายบนฐานของการรับฟังข้อมูลที่หลากหลาย
สาธารณชนพึงสื่อสารถึง นปช. และฝ่ายรัฐ ทั้งโดยผ่านสื่อสารมวลชน หรือโดยปิดประกาศข้อความ ซึ่งอาจมีเนื้อหา เช่น
· ชุมนุมไม่ว่า แต่อย่ารุนแรง
· อย่าจัดม็อบชนม็อบ
· ผู้รักษากฎหมายทำหน้าที่ แต่ไม่ใช่คู่กรณี
· รัฐโปรดทำหน้าที่ อย่าให้มีความรุนแรง
สาธารณชนในฐานะผู้สื่อข่าวพลเมือง
คนย่อมไม่ยับยั้งชั่งใจที่จะทำบาปหากคิดว่าไม่มีผู้รู้เห็น แต่จะละอายต่อบาปมากขึ้นด้วยเกรงว่าจะเป็นที่รู้เห็นกันโดยทั่ว ในการชุมนุมครั้งนี้ ผู้ที่คิดจะก่อความรุนแรงหรือผู้ที่มีอารมณ์ร้อนแรงอาจยับยั้งชั่งใจหากมีผู้สื่อข่าวคอยจับตาดูอยู่ อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวมีจำนวนจำกัดและไม่อาจมีอยู่ทุกแห่งหนได้ อีกทั้งบางคนอาจเสนอข่าวด้านเดียวหรือเข้าข้าง ซึ่งจะยั่วยุอารมณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น สื่อสารมวลชนควรเปิดพื้นที่ ให้สาธารณชนทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวพลเมือง คอยบันทึกเสียง และบันทึกภาพ เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ในหลายแง่มุม การมีผู้สื่อข่าวพลเมืองเป็นสักขีพยานจำนวนมาก จะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงลงได้