ผลสานเสวนาเสนอจับคู่ขัดแย้ง 2 สี เจรจาออกทีวี
สถาบันพระปกเกล้า จับมือ วช.จัดสานเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปรารถนา พร้อมเสนอจับคู่กรณีขัดแย้งเจรจาออกทีวี แนะตั้งรร.สอนนักการเมืองให้มีจิตอาสา-สาธาณะ และกำหนดให้นักการเมืองมีใบประกอบวิชาชีพ
วันนี้ (9 มี.ค.)เมื่อเวลา 16.00 น.ที่ห้องประชุมปิ่นเกล้า2 โรงแรมรอยัลซิตี้ปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดสานเสวนา หัวข้อ "หาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปรารถนา" โดยมีประเด็นพิจารณา 4 เรื่อง ได้แก่ การเมืองและสังคมที่คนไทยอยากเห็น, นักการเมืองที่ปรารถนา, แนวทางในการทำให้เกิดการเมืองและสังคมที่ปรารถนา และแนวทางสร้างนักการเมืองที่ปรารถนา
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงภาพรวมของผลการสานเสวนาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด คือ 1.บทบาทของพลเมืองต้องมีมากขึ้น ร่วมคิดและทำ เกิดการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมืองเป็นผู้เล่นฝ่ายเดียว นักการเมืองต้องฟังเสียงประชาชน 2.ไม่อยากเห็นการเมืองที่ทะเลาะวิวาทกัน 3.อยากให้เกิดเวทีสานเสวนาในลักษณะนี้ให้กว้างขวางและแพร่หลาย 4.โครงสร้างการเมืองที่มีปัญหาประชาชนต้องได้ร่วมแก้ไข ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ต้องถามประชาชน และ5.ในภาวะวิกฤติขณะนี้ต้องไม่เกิดความรุนแรง ต้องสร้างการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสันติ ทั้งผู้ชุมนุม หรือภาครัฐก็ตาม
ศ.นพ.วันชัย กล่าวว่า ผลการสานเสวนาพบข้อเรียกร้องให้เกิดโรงเรียนเพื่อสอนนักการเมืองก่อนรับสมัครเลือกตั้ง ที่มุ่งเน้นให้นักการเมืองต้องมีจิตสาธารณะ จิตอาสา โดยอาจจะเป็นสถาบันองค์กรภาคพลเมืองตรวจสอบได้ เช่น โรงเรียนนักการเมืองท้องถิ่นที่ต.ควนรู อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา เป็นต้น และนักการเมืองต้องมีใบประกอบวิชาชีพนักการเมืองด้วย
"ทางออกของความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้จากการเจรจานั้น ต้องไม่ใช่การชี้หน้าด่ากัน โดยควรจะต้องมีการจัดสานเสวนาในลักษณะเช่นนี้ให้มากขึ้น และการจะร่วมเจรจาได้ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ขณะที่การเจรจาต้องนำประเด็นเบื้องหลังจุดยืนทั้งหมดมาคุยด้วย มีจุดสนใจชัดเจนเพื่อร่วมหาทางออกกัน ไม่มุ่งเอาแพ้ชนะกัน ต้องเจรจาอย่างมีกติกา ต้องมองทุกคนด้วยอย่างความเข้าใจ เช่น หมอที่ต้องมองคนไข้ด้วยความเข้าใจ เป็นต้น เสื้อเหลืองต้องหัดดูจอแดง และเสื้อแดงต้องหัดดูจอเหลืองด้วย โครงการนี้ไม่ใช่ตัวอย่างตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่เป็นเวทีของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการเห็นประเทศดีขึ้น "ศ.นพ.วันชัย กล่าว
ด้านนายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดสานเสวนา (Citizens Dialogue)เพื่อต้องการหาทางออกให้สังคม โดยได้จัดเวทีสานเสวนามาทั่วประเทศมาแล้ว 4 ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในส่วนของกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านได้จัดที่จ.ขอนแก่น กำแพงเพชร สงขลา และระยอง ด้วยการสุ่มตัวอย่างจากทุกภาคส่วนจำนวน 100-120 คนที่อยากเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้นร่วมเสวนา แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 40 คน โดยอภิปรายปัญหาในหัวข้อที่กำหนด 10-15 ครั้งภายใน 1 วันเต็ม ซึ่งได้ให้ข้อมูลทางเลือกประกอบการเสวนา สำหรับแก้ปัญหานั้นๆ ในรูปแบบฉากทัศน์ (Scenarios) 4 ทางเลือก ดังนี้ การมีประชาธิปไตยแบบตัวแทน, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม, ประชาธิปไตยแบบประชาเสวนาหาทางออก และการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า กระบวนการสำรวจความคิดเห็นจากการสานเสวนานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม ทางสถาบันฯได้มีความพยายามผลักดันระบวนการเช่นนี้มา 5-6 ปีแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำประชาวิจารณ์ หรือประชามติ คือ เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยมุ่งการเปิดใจเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดกัน ตั้งแต่เแรกเริ่มของประเด็นต่างๆ อย่างแท้จริง เพราะการทำประชาวิจารณ์หรือประชามติเกิดจากข้อสรุปของกลุ่มคณะและมีการตัดสินมาก่อนแล้วนำมาสำรวจความเห็นจากประชาชน แต่สานเสวนานี้กลับกัน
"ภาพรวมของการเมืองและสังคมที่คนไทยอยากเห็นจากการสานเสวนานี้ คือ สังคมที่สงบ สันติ และสมานฉันท์ อยากเห็นการเมืองที่เป็นส่วนรวม มองประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนนักการเมืองที่ปรารถนา คือ ต้องซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน ที่ต้องรู้ เข้าใจและแก้ไขปัญหาได้ และมีข้อเสนอให้นักการเมืองหรือส.ส.ต้องรายงานผลการทำงานต่อประชาชนทุก 6 เดือน พร้อมเรียกร้องให้มีการนำคู่กรณีความขัดแย้งมาร่วมพูดคุยกันออกอากาศผ่านโทรทัศน์ทุกช่องให้ประชาชนทราบ โดยไม่จำเป็นต้องคุยกันครั้งเดียว อีกทั้งเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอความจริงให้ปรากฎ และจะพยายามเผยแพร่ผลสานเสวนานี้ให้มากขึ้นด้วย"ผอ.สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง กล่าว
ส่วนต้นแบบประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาประเทศด้วยการสานเสวนานั้น คือ ประเทศแคนาดา ที่สานเสวนา เรื่อง "อนาคตของการบริการสาธารณสุขของแคนาดา" จัดเวทีเสวนา 12 แห่งทั่วประเทศซึ่งกำหนด 4 ทางเลือกแก้ปัญหา คือ 1.ให้มีการลงทุนด้านสาธารณสุขมากขึ้น 2.ให้เอกชนจ่ายเงินมากขึ้นในการรับบริการ 3.ต้องปรับระบบบริการอย่างถอดรากถอดโคน และ4.จัดระบบบริการภายในใหม่ ทั้งนี้การสานเสวนานี้ทำให้รัฐกำหนดนโยบายที่เข้าใจและเป็นที่ยอมรับของประชาชน เป็นการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงด้วยสันติวิธี