คดีพิพาทบริหารงานบุคคลนำโด่ง ฟ้องศาลปค.มากสุด
ศ.ดร.อักขราทร เผย 9 ปี ศาลปกครองรับพิจารณาคดีกว่า 5 หมื่นคดี และสามารถพิจารณาคดีแล้วเสร็จ 77 % ของคดีความทั้งหมด โดยภาคกลาง เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนมากสุด
วันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ศ.ดร. อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี ศาลปกครอง “9 ปี ศาลปกครองแห่งความเชื่อมั่น” โดยแถลงผลการดำเนินงานในด้านต่างๆในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา และทิศทางการดำเนินงานในปี 2553
ศ.ดร.อักขราทร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปี ศาลปกครอง มีปริมาณคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณาคดีมากอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนอยู่ระหว่าง 5,000 – 7,000 คดีต่อปี ปริมาณคดีที่รับเข้าสู่ศาลปกครองทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาตั้งแต่วันเปิดทำการ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2553 จำนวน 56,380 คดี สามารถพิจารณาคดีแล้วเสร็จได้อัตราค่าเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 77.51 ของคดีความทั้งหมด โดยเรื่องที่ฟ้องมากที่สุด คือ คดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล จำนวน 14,240 คดี รองลงมา คือ คดีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ จำนวน 10,773 คดี และคดีเรื่องที่เกี่ยวกับการพัสดุ สัญญาทางปกครองฯ จำนวน 8,128 คดี
“หากพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มเรื่องที่มีการฟ้องร้องมากที่สุด จำแนกออกเป็นคดีเรื่องการบริหารงานบุคคล จำนวน 6,249 คดี คิดเป็นร้อยละ 43.88 เรื่องวินัย จำนวน 4,472 คดี คิดเป็น ร้อยละ 31.40 และ เรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ จำนวน 1,656 คดี คิดเป็นร้อยละ 11.63 ของคดีความเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล”
ส่วนพื้นที่ที่เกิดคดีปกครอง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนแต่ละภูมิภาค ศ.ดร. อักขราทร กล่าวว่า เมื่อจำแนกตามพื้นที่มูลคดีเกิด พิจารณาคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น พบว่า ร้อยละ 47.44 เป็นคดีที่เกิดขึ้นในภาคกลาง ,ร้อยละ 21.46 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,ร้อยละ 13.57 ในภาคเหนือ, ร้อยละ 11.93 เป็นคดีในภาคใต้ และร้อยละ 5.60 เป็นคดีในภาคตะวันออก ตามลำดับ
ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ศาลปกครอง เป็นสถาบันหลักของประเทศที่ใช้อำนาจตุลาการอำนวยความยุติธรรมเกี่ยวกับข้อพิพาททางการปกครอง เพื่อความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและภาครัฐ เพื่อประโยชน์สาธารณะ เน้นประโยชน์ของคนส่วนรวมให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างมีฐานะเท่าเทียม
“ศาลปกครองมีการพัฒนามายาวนาน เพื่อการต่อสู้และผดุงความยุติธรรม พิจารณาคดีโดยเสริมเพิ่มเติมจากตัวกฎหมายจากศาลชนิดอื่น ทำหน้าที่เชื่อมโยงทางด้านกฎหมายกับฝ่ายบริหาร ที่จะให้คำแนะนำ โดยให้ความสำคัญกับกฎหมายและการบริหารไปพร้อมกัน”ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าว และว่า สภาพปัจจุบันในสังคมไทยยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ ในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งอาจจะมีประเด็นของปัญหาที่แตกต่างไป การหาความเป็นธรรมโดยผ่านศาลปกครองจึงต้องคำนึงถึงความชัดเจนและสามารถอธิบายให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นประเด็น โดยสิ่งที่สำคัญ คือ อะไรเป็นหัวใจของกฎหมายที่มีมากกว่าการสร้างให้เกิดคดีความฟ้องร้องเท่านั้น
ศ.ดร. อักขราทร กล่าวอีกว่า กฎหมายเป็นหัวใจหลักสำคัญในการตัดสินความถูกต้อง อย่างกรณี คดีสิ่งแวดล้อมของมาบตาพุด การตัดสินอะไรต้องดูทั้งสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และต้องดูระหว่างสิทธิของเอกชนที่กฎหมายรับรองกับประโยชน์สาธารณะ และความเป็นธรรมเกิดขึ้นให้มากที่สุด
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตในโอกาส ที่ศาลปกครองจะก้าวสู่ “หนึ่งทศวรรษ” ศ.ดร.อักขราทร กล่าวว่า วิธีที่ใช้ จะยึดมั่นในนโยบายแนวทางหลักประการ คือ 1.การตัดสินคดีความในศาลปกครอง ต้องอาศัยความรวดเร็วและถูกต้อง 2.พัฒนาองค์ความรู้และตัดสินให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพด้านวิชาการ 3.จัดตั้งศาลปกครองในส่วนภูมิภาค เพื่อการรับบริการอย่างทั่วถึง 4.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจงานของกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิอย่างชอบธรรมในด้านกฎหมาย 5.ปรับปรุงกระบวนการการทำงานให้ดีขึ้น และรับฟังความคิดเห็นโต้ตอบจากประชาชนและนำมาแก้ไขต่อไป