“ปรับ-ปฏิรูป” ระบบราชการไทย เรื่องใหญ่กว่าแก้กม.เล็กๆ น้อยๆ
“วิษณุ เครืองาม” เผยระบบ บริหารราชการจะต้องเป็นระบบที่ปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม มีกลไก-วิธีสร้างความยืดหยุ่นและกำกับ การใช้การดุลยพินิจของข้าราชการให้เหมาะสม
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระบบบริหารราชการไทย ในการอบรม ผู้บริหารสื่อมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันอิศรา ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาของการบริหารระบบราชการไทยอยู่ที่ความเหมาะสมของการจัดลำดับความสำคัญในการจะแก้ไขและจัดการส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบก่อน
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า ระบบบริหารราชการไทยมีโครงสร้างที่ใหญ่ เนื่องจากมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 2.5 ล้านคน เป็นระบบที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังเป็นระบบที่มีปัญหามากที่สุดในบรรดาระบบต่างๆ ของสังคมไทย จนทำให้คนเกิดความพอใจได้ยาก ดังนั้นต้องหาแนวทางจัดการให้เหมาะสมแก่การทำงาน
“ระบบ บริหารราชการจะต้องเป็นระบบที่ปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม คณะบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ต้องถูกฝึกอบรมมาให้ทำหน้าที่นี้ สิทธิ หน้าที่ และอำนาจ ต้องครอบคลุมทุกคนในระบบ คือ ทั้งระดับล่าง เช่น ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เพียงผู้สั่งการในระดับบน 36 คนเท่านั้น”อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า จากการศึกษาพบงบประมาณรัฐ 100 บาท 30% เป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ 30% ใช้หนี้เงินกู้ของประเทศ เหลือเพียง 40% ที่ใช้พัฒนาประเทศจริงๆ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูประบบบริหารราชการให้มีความเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ ทั้งงบประมาณและบุคลากร
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า ระบบราชการไทยยังเปิดให้ข้าราชการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินในเรื่องที่ไม่ สมควรใช้ ส่วนเรื่องใดที่ควรใช้ดุลยพินิจกลับไม่ให้ใช้ ในการปฏิบัติงานบางเรื่องก็มีความยืดหยุ่นสูง ขณะที่บางเรื่องกลับยึดหลักการมากเกิน จนเกิดความไม่เป็นธรรมในบางเรื่อง ดังนั้นจะมีวิธีสร้างความยืดหยุ่นและกำกับการใช้การดุลยพินิจของข้าราชการ อย่างไรให้เหมาะสม
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์สึนามิที่คณะทำงานของรัฐมนตรีลงพื้นที่ช่วยเหลือแต่ไม่สามารถสั่งการหรือขอความ ร่วมมือหน่วยงานอื่นๆได้ จนกระทั่งรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการแก้ไขให้การมอบอำนาจสามารถทำข้ามกระทรวงได้ และกรณีพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กำหนดให้ข้าราชการเมื่อเสียชีวิต บำเหน็จบำนาญจะตกเป็นของภรรยาและบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็คือ ภรรยาน้อยและบุตรจากภรรยาน้อยก็ไม่ได้รับ แต่เมื่อใดที่มีการฟ้องร้องคดีภายใน 1 ปีหลังจากข้าราชการผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว ก็สามารถย้อนคดีเรียกรับสิทธิส่วนนี้ได้ ก็คือ สามารถย้อนคดีเรียกทรัพย์ที่แบ่งไปแล้วมาแบ่งจ่ายใหม่ได้ เป็นต้น
“บางครั้ง การแก้ปัญหาของประเทศชาติต้องใช้วิธีการแบบนี้ ส่วนเมื่อยืดหยุ่นแล้วจะเกิดการโกงขึ้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องสร้างกลไกการควบคุมขึ้นมา ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ในระบบบริหารราชการ สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายพูดขึ้นมาแล้วต้องทำ คือ การปฏิรูปกฎหมาย รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มองเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งปฏิรูปกฎหมาย นับว่าเป็นที่แรกในโลกที่ทำเรื่องนี้ แต่การปฏิรูปกฎหมายนี้ไม่ใช่เพียงการแก้ไขกฎหมายเพียงนิดหน่อย แต่ต้องเป็นการศึกษาวิจัย เป็นงานใหญ่ นำอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วม และต้องทำโดยอิสระปราศจากการสั่งการจากรัฐ ทั้งหมดนี้เป็นสภาพปัญหาของระบบราชการไทย” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญของการปฏิรูประบบราชการมาก่อนแล้ว เคยรับสั่งว่าการปฏิรูปประเทศชาติจะทำได้ ไม่ว่าจะปฏิรูปด้านใดก็ตาม ประเทศไทยจะต้องเริ่มจากการปฏิรูประบบราชการ (Government Reform) เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของการ นำไปสู่การปฏิรูปทุกสิ่ง ซึ่งในที่ประชุมกพร.เคยมีคนเสนอให้การปฏิรูประบบบริหารฯ ต้องคำนึงถึง 1.โครงสร้างระบบบริหารราชการ 2.วิธีการปฏิบัติงานของราชการ และ 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน ซึ่งในต่างประเทศนั้นหลายประเทศยึดหลักการปฏิรูประบบบริหารราชการ 3S คือ ปฏิรูป Structure, Service และ Size ที่สอดคล้องกับรัชกาลที่ 5 ที่เคยปฏิบัติไว้ในอดีต โดยที่ทรงเริ่มจากแบ่งข้าราชการประจำแยกจากข้าราชการการเมือง ซึ่งขณะนั้นทำให้ต่างชาติแปลกใจพอสมควรในวิธีการเช่นนี้ คือ ทรงปฏิรูประบบราชการไทยโดยเริ่มจากยุบจตุสดมภ์ และ 2 ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี อัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีจตุสดมภ์ จากนั้นตั้ง12 กระทรวงขึ้น
“ที่จริง การปฏิรูประบบบริหารราชการไทยมีความพยายามมาหลายสมัย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 และ7 ซึ่งจริงจังมาถึงปี 2545 เกิดการปฏิรูประบบบริหารราชการไทยในสมัยรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลักดันเรื่องเออร์รี่รีไทร์และดันข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทำงานที่ไม่ใช่ราชการ เช่น มหาวิทยาลัยนอกระบบ เป็นต้น”