นักสันติวิธีมั่นใจ 'ความต่างแยก' ในเนื้อสังคมไทยยังแก้ได้
ชี้ “ทักษิณ” ไม่ใช่ต้นเหตุความขัดแย้งโดยตรง เป็นผลของเหตุปัจจัยนานาชนิด ย้ำชัดสังคมไทยต่อจากนี้ไปจะอยู่ต่อไปได้ ต้อง รื้อฟื้นสำนึกความเป็นธรรม และแก้ไขไม่ได้ด้วยตัวบทกฎหมายอย่างเดียว
วันนี้ (2 มี.ค.) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะของคนไทย ครั้งที่ 29 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กทม. ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังประสบความยากลำบากเนื่องจากความขัดแย้งที่ลากยาวมาไกล และกัดกร่อนสถาบันทุกชนิด ลากสถาบันไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง อีกทั้งยากในการสร้างความไว้ใจเปิดอกพูดคุยกัน ประกอบกับปรากฎการณ์ความขัดแย้งที่สังคมไทยเผชิญอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมา ก่อน ไม่เหมือนความขัดแย้งเดิม เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 เพราะขณะนั้นภาคประชาสังคมอยู่ฝ่ายหนึ่งและรัฐก็ฝ่ายหนึ่ง
“สังคมไทยยังมี ความพิเศษและน่าสนใจอย่างหนึ่ง อาจเป็นที่เดียวในโลกที่มีลักษณะเช่นนี้ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญความขัดแย้งที่ดุเดือดรุนแรง แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้อยมาก ซึ่งเชื่อว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำอะไรไม่ได้เลยตามที่มีความพยายามกล่าวอ้างจาก หลายฝ่าย ยังสามารถแก้ไขปัญหาได้”ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว และว่า ต้นเหตุทั้งหมดไม่ได้มาจากตัวบุคคลอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงผลของเหตุปัจจัยนานาชนิด
เมื่อถามถึงสิ่งที่ ต้องทำ หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึด ทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ต้องรื้อฟื้นสำนึกความเป็น ธรรมในสังคมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก สังคมจะอยู่ต่อไปไม่ได้หากไม่รื้อฟื้นหรือสร้างจุดนี้ เนื่องจากคนรู้สึกถึงความยุติธรรมในสังคม (Sense of justice) เริ่มหายไป ซึ่งจะใช้เพียงเรื่องกฎหมายอย่างเดียวที่จะมาฟื้นฟูตรงนี้ไม่ได้
ส่วนวิธีการนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี กล่าวว่า จะต้องทำให้เกิดความทนกันได้ในความต่างแยกนี้ ในเมื่อขณะนี้คนทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรักกันได้ภายใต้ความเป็นไทยด้วยกันใน อดีตอาจจะหลอกตัวเองว่าทุกคนเหมือนกันทั้งที่ความจริงไม่ใช่ ดังนั้นต้องทำให้ตระหนักว่าเมื่อต่างแยกกันแล้วจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นคุณค่าสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย ในยุคต่อไปจุดนี้อาจจะสำคัญยิ่งกว่าความเสมอภาค
“คนที่อยู่ตรง กลางของความขัดแย้งก็สามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ โดยอาจต้องทำให้ลักษณะเกิดการรวมตัวกันของคนไทยให้ได้เมื่อมีความขัดแย้ง เกิดขึ้น เช่นอาจมีเรื่องหนึ่งที่ใหญ่กว่าข้อขัดแย้งนี้เพื่อให้มีการรวมตัวเป็นอัน หนึ่งเดียวกันได้ หรือต้องพยายามทำให้เกิดการพูดคุยกันในลักษณะที่อาจไม่ต้องเปิดเผย ซึ่งสังคมไทยมีเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงตรงนี้ได้”
อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งและความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ว่า เป็นปัญหาที่ยาวนาน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วคนในการแก้ไข โดยปัญหาความรุนแรงกรณีนี้เกิดชัดเจนตั้งแต่พ.ศ.2504-ปลายปีที่แล้ว มีความรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 13,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ข้าราชการ ทหาร ชาวบ้าน กว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นปมทำให้เกิดสถานการณ์และร่องรอยความขัดแย้งมาสู่คนรุ่นหลัง เกิดเด็กกำพร้ามากมาย ทำให้ข้อยัดแข้งนี้มีอายุยืนต่อไปอีก ส่งผลให้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการจัดการปัญหา และที่สำคัญต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งในการจัดการปัญหา แต่เวลานี้เราไม่ได้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งขนาดนั้น ทำให้การจัดการเรื่องนี้ต้องอยู่ในการดูแลของทหาร