ดร.คณิตชี้เสรีภาพการชุมนุมเป็นเครื่องมือของคนระดับล่าง
พร้อมหนุนควรมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อวางรากฐานความเป็นประชาธิปไตยของสังคม ขณะที่หมอประเวศ เสนอตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ มาแก้ปัญหาความขัดแย้ง
วันนี้ (12 ก.พ.) ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเปิดการประชุมเรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” ที่โรงแรมรามา การ์เด้นท์ โดยเห็นว่า ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม การชุมนุมสาธารณะ เดินขบวนถือเป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รัฐบาลประชาธิปไตยจึงไม่ได้ลิดรอนสิทธิตรงนี้
ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ ปราศจากอาวุธได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามกติกาสากล ซึ่งเสรีภาพการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือของประชาชนระดับล่าง สะท้อนให้เห็นปัญหาข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาล ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนจึงมีการนำกฎหมายอื่นมาใช้ดำเนินการไปพลางๆก่อน
“กระบวนการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ รัฐบาลรับดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่อนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก็ได้ศึกษาแนวทางกฎหมายต่างๆ และคิดว่า น่าจะมีกฎหมายลักษณะนี้เกิดขึ้น หรือว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้กำลังถกเถียงกันอยู่”
ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ จะเป็นกฎหมายที่วางรากฐานบนความเป็นประชาธิปไตยของสังคม เพราะเสรีภาพการชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ของระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นกฎหมายนี้จึงอาจจำเป็นและควรส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในสังคมด้วย การมีกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งขึ้นใช้บังคับ ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก เพราะนักกฎหมายร่างได้รวดเร็ว แต่การมีกฎหมายที่ดีและบังคับใช้กฎหมายที่ดีให้ถูกหลักการ คิดว่าเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า
ด้านนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” โดยเห็นว่า ในสังคมประชาธิปไตย การชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา แต่เราอยากเห็นการชุมนุมเป็นไปอย่างสันติและสร้างสรรค์ และอย่ามองการชุมนุมในแง่ร้ายไม่ดี การชุมนุมในประเทศยังไม่ถึงขั้นรุนแรงเหมือนในต่างประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ขาดกรอบกติกา กลไก และสังคมเข้ามากำกับ
อย่างไรก็ตาม ราษฎรอาวุโส เรียกร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งคณะกรรมการประชุมดังกล่าว เคยตั้งเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้ยกเลิกไป กลายเป็นคณะทำงาน ที่มีนายชัยวัฒน์ สถาอนันท์ เป็นประธาน เชื่อมั่นว่าหากตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ จะสามารถแก้ปัญหาการชุมนุม และความขัดแย้งในสังคมไทยได้
“ คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ จะทำหน้าที่เชิญผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุม มากำหนดกรอบและกติกา ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้เคยเชิญ นายพิภพ ธงไชย แกนนำคนเสื้อเหลือง และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำคนเสื้อแดง ไปพุดคุยมาแล้ว”
สำหรับการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมนั้น ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า สื่อต้องพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงในการชุมนุมออกไปให้มากที่สุด และต้องสนับสนุนให้ร่วมกันทำกรอบกติกาในการชุมนุมสาธารณะร่วมกัน
เมื่อถามถึงกรณีมีกลุ่มคนพยายามแฝงเป็นสื่อมวลชนร่วมนำเสนอข่าวออกมาในแง่ความรุนแรงจากสถานการณ์การชุมนุม ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า อาจจะยากที่จะควบคุม ต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของประชาชนผู้รับข่าวสารด้วย ดังนั้นต้องพัฒนาการสื่อสารให้นำเสนอความจริงให้มากที่สุด ขณะที่แกนนำการชุมนุมก็ไม่ควรให้ข่าวในลักษณะยุยงปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงด้วยเช่นกัน และถ้าใครใช้ความรุนแรงนั้นจะมีแต่ทำให้ความชอบธรรมในการชุมนุมลดลง