คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอวิธีก้าวข้ามความขัดแย้ง
แนะเปิดใจกว้างมองประวัติศาสตร์ของโลก มองพรุ่งนี้-มะรืนนี้ มากกว่าการมองเมื่อวาน-วันนี้ ด้านผอ.มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ย้ำชัดไร้คำตอบเป็นเรื่องสังคมไทยต้องเรียนรู้ ไม่มีเครื่องมือวิเศษ ต้องหันหน้าพูดคุยกัน
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าววันนี้ (28 ม.ค.) ในงานเสวนา “ก้าวข้ามความขัดแย้งสังคมไทย” จัดโดยสยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิฟรีดิชเนามัน ประเทศไทย โดยเห็นว่า บรรยากาศในประเทศไทยเวลานี้ เป็นบรรยากาศที่มีแต่ความตึง เครียด เผชิญหน้า และมีความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างต่อเนื่อง ยืดเยื้อ และอาจจะรุนแรงคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้ทุกฝ่ายอยากจะยุติความขัดแย้ง และก้าวข้ามความขัดแย้งสังคมไทยไปให้ได้ แต่สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ ความขัดแย้งแต่ละฝ่ายแต่ละคนดูเหมือนใหญ่โต ให้ความสำคัญมากจนเกินปกติที่ควรจะเป็น เสมือนว่า เราจะมีชีวิตอยู่แค่วันนี้ ต้องสู้เพื่อเอาชนะกัน ซึ่งเราควรเปิดใจให้กว้างย้อนดูประวัติศาสตร์ของโลก ของมวลมนุษยชาติที่เคยเผชิญความขัดแย้งมาก่อน ทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประเทศแอฟริกาที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หากเรานึกถึงบรรยากาศของคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเราจะนึกหาทางออกว่าเป็นอย่างไร
“ย้อนดูกลับไป 50-100 ปีที่แล้ว ที่ความขัดแย้งผ่านไปได้ อะไรทำให้สิ่งเหล่านั้นผ่านไปได้ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งการก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ คือการมองพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มากกว่าการมองเมื่อวานกับวันนี้ ความขัดแย้งเวลาเกิดขึ้น เหมือนกับคนหนึ่งที่ชนะได้หมด คนที่แพ้ก็จะเสียหมด”
ขณะที่ดร. ไรเนอร์ อดัม ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน กล่าวว่า การที่สังคมจะขับเคลื่อนไปได้ ต้องมีประเด็นที่ขัดแย้งต่างๆ เกิดขึ้น พร้อมมองว่า ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป บางครั้งยังเป็นที่มาของนวัตกรรมหลายๆ อย่างของมนุษย์ แต่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ความรุนแรงที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้ยกตัวอย่างประเทศเยอรมันที่มีความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับภาษี สหรัฐฯ มีปัญหาควรจะสร้างงานหรือนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้อย่างไร ส่วนฝรั่งเศสมีข้อขัดแย้งว่า สตรีมุสลิมจำเป็นต้องสวมผ้าคลุมหน้า “ฮิญาบ”หรือไม่ หรือในประเทศไทยก็มีการแบ่งสีเหลือง สีแดง หรืออาจจะมีอีกมากมายหลายสี
“ทางเลือกหนึ่งของการขจัดความขัดแย้งคือการมีประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย เท่าเทียมกันในสิทธิการเลือกตั้ง ให้เสียงส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสังคม เสียงส่วนน้อยต้องทำตาม ตามหลักประชาธิปไตย”
เมื่อถามว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะก้าวผ่านไปได้อย่างไร ดร. ไรเนอร์ อดัม กล่าวว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดแจน เป็นเรื่องที่สังคมไทย และทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่มีเครื่องมือใดวิเศษที่สามารถมาปัดเป่าความขัดแย้งได้ในคราวเดียว คนในสังคมต้องยอมรับสถาบันต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องมือ เพื่อให้การทำงานอย่างได้ผล
ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน กล่าวด้วยว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา แต่มีหลักการง่ายๆ คือ การหันหน้าเข้าหากันพูดกัน เพราะหากมีคนพูดแต่ไม่มีคนฟัง ก็จะมีแต่ความเงียบ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะยาก
ด้านนายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จากสยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต สถาบันวิจัยอิสระภาคเอกชน ได้นำเสนอโครงการมองต์เฟลอร์ และวิธีการสร้างฉากทัศน์ในอนาคต (Scenario) ว่า อาจเป็นทางออกหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์และลดความขัดแย้งในสังคมไทยได้ เพราะจากประสบการณ์สร้างความสมานฉันท์ของประเทศแอฟริกาใต้ จากโครงการมองต์เฟลอร์ ทำให้ความขัดแย้งในแอฟริกาใต้บรรเทาลง จนในที่สุดสามารถเลือกตั้งทั่วประเทศโดยให้ประชาชนทุกฝ่ายมีสิทธิ์ออกเสียง และประธานาธิบดีผิวดำฝ่ายสันติ เนลสัน แมนเดลา ได้รับชัยชนะ