คณิต ณ นคร ย้ำถึงเวลาปฏิรูปความบิดเบี้ยวกระบวนการยุติธรรมไทย
คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ประเทศไทยมีหน่วยงานทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมมากมาย แต่ขาดการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน จนทำให้เกิดความแตกแยก
ศ.ดร.คณิต ณ นคร คณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวในเวทีการประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล ครั้งที่ 26 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆนี้ เกี่ยวกับการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย โดยเห็นว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมมากมาย แต่ขาดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันจนทำให้เกิดความแตกแยก
ศ.ดร.คณิต กล่าวถึงความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยได้ยกตัวอย่างกระบวนการยุติธรรมของประเทศเจริญแล้วทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเมืองประชาธิปไตย มีความเข้มแข็งทั้งสิ้น อย่างที่ญี่ปุ่น รัฐมนตรีเกษตรฯ ฆ่าตัวตาย ถ้าไม่ฆ่าตัวตายติดคุก เพราะกระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพ หรือที่ประเทศเกาหลีใต้ นายโนห์ มู เฮียน อดีตประธานาธิบดี กระโดดเขาฆ่าตัวตาย แค่ถูกสงสัยคนในครอบครัวรับสินบน แต่ในประเทศไทยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
กรณีคดีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 (CTX 9000) ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า ยืดเยื้อยังไม่มีอะไรออกมากำลังรอดูผล เหตุเกิดในต่างประเทศจึงเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด ผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดี ส่วนคดีศาลสหรัฐฯพิพากษา จำคุกนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน สามีภรรยาชาวอเมริกัน นักธุรกิจผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูด ในข้อหาติดสินบนอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อแลกกับการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ นั้น บ้านเรากระบวนการแต่ติดๆ ขัด ถามว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำอะไรอยู่ แม้กระทั่งเรื่อง กรือเซะ ตากใบ มีคนล้มตาย ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง มีแต่โยนกันไปโยนกันมา ซึ่งต้องกลับมามองว่า ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ไหน
เมื่อถามถึงบทบาทสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ควรจะเลิก ไม่ได้เรื่อง เพราะทำให้ระบบกระบวนการยุติธรรมไทยแตกแยก ป.ป.ช. เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 “ที่เกิด ป.ป.ช. ด้วยเหตุผลว่าศาลของเราไม่กระตือรือร้น แต่อยู่เฉยๆ ไม่ดิ้นรน ปล่อยให้มีการต่อสู้ ทั้งๆที่ศาลต้องเป็นตัวจักรสำคัญในการ ตรวจสอบค้นหาความจริง แต่ในทางปฏิบัติปล่อยให้ต่อสู้กัน คดีถึงยืดเยื้อ
“ความคิดที่ว่า อยากให้ ป.ป.ช. เกิดศาลนักการเมือง เพื่อเป็นแบบอย่างให้ศาลดำเนินคดีให้กระตือรือร้นมากขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นผล ประเด็นของบ้านเราชอบคิดว่า ควรจะมีองค์กรอะไรเพิ่มขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทำงาน แต่จริงๆไม่มีประเทศไหนที่จะมีกระบวนการมากเท่าบ้านเรา ในต่างประเทศมีอัยการ ตำรวจ เป็นองค์กรหลัก หรือเหมือนประเทศไทยคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แค่นั้น ไทยมีป.ป.ช. ไหนจะมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก”
ศ.ดร.คณิต กล่าวด้วยว่า กระบวนการเหล่านี้ไม่มีการทำงานแบบบูรณาการต่างคนต่างทำ เคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้ว่า เรื่องอะไรที่นายสัก กอแสงเรือง อดีตกรรมการคตส.ต้องมาทะเลาะกับอัยการสูงสุด หรือว่าตำรวจต้องไปทะเลาะกับดีเอสไอ ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินคดีเดี่ยวทั้งนั้น
“เราไม่ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่พัฒนสิ่งที่มีอยู่ มีแต่ไปสร้างๆ จึงคิดว่าเป็นเงินภาษีประชาชนหรือไม่ที่นำไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก เราต้องคิดกลับใหม่กระบวนการยุติธรรมใครควรจะเป็นหลัก ใครควรจะเป็นผู้ช่วย เช่น ป.ป.ช ขณะนี้ก็กำลังมีปัญหากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขัดแย้งในการวินิจฉัยความผิดของข้าราชการ เป็นต้น ยุ่งกันไปหมด ขณะที่กระบวนการยุติธรรมมีการทำงานวิจัย แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด”