กรรมการสิทธิฯ โทษการเมืองน้ำเน่า อุปสรรคใหญ่ขับเคลื่อนสิทธิชุมชน
ทั้งออกนโยบาย-กฎหมายทำร้ายปชช. ละเมิดสิทธิชุมชน ย้ำวันนี้ต้องถอดบทเรียนมาบตาพุด ไม่เช่นนั้นสังคมไทยเจ็บแล้วเจ็บอีก พร้อมแนะเน้นการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนและเข้มแข็ง กันนักการเมืองเข้ามาล้วงลูก
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 301 อาคารรัฐสภา 2 ถ.อู่ทองใน กรุงเทพ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “สิทธิชุมชน รู้แต่เข้าใจไม่ชัด ภาครัฐต้องกล้านำ” จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ถึง สาเหตุหลักของการละเมิดสิทธิชุมชน คือ ระบบการเมืองที่อยู่วัฏจักรน้ำเน่าและวงจรอุบาทว์ นโยบายและกฎหมายต่างๆ ออกมาทำร้ายประชาชนตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์ หรือนโยบายประชานิยม โดยไม่ตระหนักถึงสิทธิชุมชนของประชาชนนพ.นิรันดร์ กล่าวว่า สิทธิชุมชนมีความหมาย 2 นัย คือ 1.นัยทางกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญม.66,67 วรรค 2 ซึ่งม.66 ทำให้เห็นว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องจริง ส่วนม.67 วรรค 2 และ 2.นัยทางวัฒนธรรม ซึ่งสิทธิชุมชนมีมาก่อนรัฐธรรมนูญจะประกาศ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นของรัฐไทยเกิดก่อนรัฐไทย สิทธิชุมชนจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของโลกตะวันออกไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งเน้นในความเป็นชุมชนท้องถิ่น ความเป็นพลเมืองเป็นลักษณะเฉพาะ ดังนั้นปัญหาคือรัฐไทยปกครองโดยเป็นธรรมหรือไม่
กรณีตัวอย่างปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การต่อสู้ภาคประชาชนมีมาตลอด เช่น เขื่อนปากมูน ราษีไศล ปัญหาที่ดินจ.สุราษฎร์ธานี คอนสาร จ.เพชรบูรณ์ กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล นิคมอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ การขุดทรายในลุ่มน้ำตะกั่วป่า โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard ) รวมทั้งวิทยุชุมชนก็เช่นกันที่มีการละเมิดสิทธิ จะพบว่า มีไม่ถึง 200 ใน 5,000 กว่าแห่งที่เป็นวิทยุชุมชนจริงๆ ที่เหลือเป็นวิทยุนักการเมือง
นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงกรณีเขายายเที่ยงว่า เป็นประเด็นการจัดการที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ส่วนปัญหาคลองเตยเป็นประเด็นความขัดแย้งจากการพัฒนา ชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราถอดบทเรียนและแนวทางในการจัดการจากกรณีมาบตาพุด ก็จะนำมาสู่ในการจัดการเรื่องสิทธิชุมชนได้อย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นสังคมไทยเจ็บแล้วเจ็บอีก เราจะไม่มีม้าขาวมาช่วยได้ตลอดถ้าเจ็บแล้วไม่จำ การปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่ยึดเสียงข้างมากอย่างเดียว แต่ต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ตรงนี้ในฐานะองค์กรรัฐต้องทำ
สำหรับการป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชนนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ศาลปกครองระบุว่าต้องมีมาตรการป้องกันชุมชนซึ่งดีกว่าการชดเชยค่าเสียหาย ต่างประเทศทำเรื่องนี้แล้ว และทำอย่างถูกต้องไม่เลือกข้าง ขณะนี้ยอมรับว่าศาลปกครองเป็นความหวังของประชาชนเรื่องสิทธิชุมชน มาตรการในการคุ้มครองสิทธิชุมชนนั้นสำคัญเพราะเป็นกฎหมายแสดงว่าได้สรุปบทเรียนแล้ว และแนวทางที่จะทำให้เกิดสิทธิชุมชนได้นั้นต้องมี 1.การบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนและเข้มแข็ง นักการเมืองไม่สามารถเข้ามาได้ 2.กระบวนการยุติธรรมทางสังคมต้องเข้าใจสิทธิชุมชน อำนาจต้องคานอำนาจ สร้างสำนึกในความเป็นธรรม และ3.ตุลาการภิวัตน์ต้องขยายขอบเขตเรื่องการคุ้มครองทางสังคม
“สังคมไทยจะไม่มีทางออก ถ้าไม่สร้างความเข้าใจและตระหนักในสิทธิชุมชน สิทธิชุมชนนั้นไม่ต้องการให้ใครแพ้ชนะ ไม่ว่าเศรษฐกิจหรือชุมชน ถ้าเรามองด้วยความเป็นธรรมเรื่องสิทธิชุมชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้ชุมชนส่วนใหญ่ ต้องตระหนักและเข้าใจยอมรับในวัฒนธรรมวิถีชีวิต ชุมชนต้องมีทางเลือกในการจัดการ ถามว่าประเด็นต่างๆ ในการใช้นโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย ระบบของตุลาการต่างๆ เราพร้อมที่จะสร้างความเป็นธรรมหรือไม่ ทำตรงนี้แล้วแผ่นดินไทยจะสูงขึ้นอีก” กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าว
ด้านทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า สิทธิชุมชนเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงของประชาชนไม่ใช่ราษฎรของภาครัฐเช่นในอดีตแต่มีความเป็นพลเมืองมากขึ้น และปัญหาพื้นฐานด้านสิทธิชุมชนเป็นความขัดแย้งผลประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องการทำมาหากิน การใช้ชีวิตประจำวันดำรงชีวิต ที่ประชาชนต้องการให้ภายนอกชุมชนมาร่วมสนับสนุน ไม่ว่าหน่วยงานท้องถิ่น เอกชน และภาครัฐ ซึ่งองค์กรภาครัฐอาจจะยังไม่มีสมาธิเพียงพอที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ตาม ม.66,67 วรรค 2 นั้นยังมีปัญหาในการดำเนินการ ตัวอย่างกรณีมาบตาพุด คือช่องว่างใหญ่ ที่ไม่ใช่ความผิดของใคร
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ ผุยพอกสิน อนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่วุฒิสภาต้องมารับเรื่องร้องเรียนแทนองค์กรหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าองค์กรเหล่านั้นทำอะไรกันอยู่
“อย่าลืมว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ศาล ดังนั้นจะทำอย่างไรในการจัดการความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนนี้กับองค์กร ภาคส่วนต่างได้ และจะช่วยกันขับเคลื่อนสิทธิชุมชนต้องทำอย่างไร”