ความเหมือนบนความต่าง“ทุจริตยาถึงไทยเข้มแข็ง”
อดีตปธ.ชมรมแพทย์โชว์ตัวเลขตรวจสอบไทยเข้มแข็งป้องกันความเสียหายในอนาคตได้เป็นพันล้าน ขณะที่อ.นวลน้อย ฉะกระทรวงหมอจัดสรรงบฯ ไร้ทิศทาง เหตุขาดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบสธ.ของประเทศ
การตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็ง ในกระทรวงสาธารณสุขนั้น นายแพทย์วชิระ กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการกินยาวจะเห็นว่า การทุจริตยาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องยาก แต่คราวนี้ถือเป็นการรวมกลุ่มกันสู้ มีการปะติดปะต่อเรื่องคอรัปชั่นได้มากขึ้น สร้างเครือข่ายบริหารจัดการหาข้อมูลได้รวดเร็วแค่ 2 เดือนก็ได้ความจริงมากว่า 80 % ขณะที่รายการครุภัณฑ์ที่เป็นปัญหาคิดเป็นมูลค่าที่ปรากฏกว่า 700 ล้านบาท แต่สามารถป้องกันความเสียหายในอนาคตร่วมเป็นพันล้านบาท
“ปัจจุบันการช่วยเหลือกันเองมีน้อยมาก ดังนั้นสังคมจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วย โดยเฉพาะสำนักงานก.พ.ที่ไม่เคยเชิดชูบทบาทเหล่านี้ จึงทำให้การยกย่องคนดีเป็นเพียงแค่ลมปาก” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ เปรียบเทียบโครงการไทยเข้มแข็ง กับการทุจริตยา 1,400 ล้าน มีความเหมือนกัน คือ เกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และเป็นรัฐบาลผสมที่รัฐบาลไม่สามารถกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ขณะที่การพัฒนาในเรื่องของคอรัปชั่นจากการทุจริตแบบเล็กๆ ก็ใหญ่ขึ้น กินแบบเมกกะโปรเจ็กมากขึ้น
“โครงการไทยเข้มแข็ง คือการที่เรามองเห็นการเตรียมทุจริตแต่ยังไม่ได้ทำการ เป็นเรื่องอาคารอุปกรณ์ทางการแพทย์ หลายส่วนราคาแพงเกินไปและไม่จำเป็น ซึ่งการกินครั้งนี้มีผลกระทบมากกว่า ทำให้โครงสร้างบิดเบี้ยว ขณะที่การทุจริตยา 1,400 ล้าน เกิดการทุจริตแล้ว เป็นเรื่องการจัดซื้อยาจบแล้วจบกัน”
ทั้งนี้ น.ส.รสนา ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นข้อกฎหมายการเตรียมการทุจริตจะสามารถเอาผิดได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายส่วนใหญ่มองว่า ต้องทำสำเร็จมีหลักฐานมีใบเสร็จ โดยเห็นว่า น่าจะมีกระบวนการตรวจสอบการเอาผิดให้ไปได้ก่อนการมีการทุจริต มิเช่นนั้นนักการเมืองอาจอ้างยังไม่ได้ทำผิด ถามหาความเหมาะสมในการนำเรื่องนี้มาเล่นงาน อีกทั้งเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมในที่สุดต้องจะค่อยๆถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยต่อไป
ขณะที่รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง ว่า เป็นงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอย่างมากมาย ในมิติแบบนี้จะมีความเร่งรีบในการออกโครงการจนไม่มีการคัดกรอง และเป็นงบฯมากกว่าสมัยทุจริตยา 80 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม ทุจริตยาในอดีตเป็นโครงการที่ทำขึ้นมาเพื่อเยียวยา จำนวนเงินไม่มาก การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ใช้แล้วหมดไปการตรวจสอบทำได้ลำบาก ส่วนโครงการไทยเข้มแข็งเป็นเรื่องการสร้างตึก ครุภัณฑ์ ใช้ระยะยาว การตรวจสอบทำได้ง่ายกว่า
และการที่รัฐบาลไม่สามารถกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ความอ่อนแอทางการเมืองตรงจุดนี้ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ความเข้มแข็งการตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น หากเทียบกับสมัยที่การเมืองเข้มแข็ง ส่วนวิธีการทุจริตยังเหมือนเดิม คือ อาศัยความร่วมมือจากข้าราชการอาจเป็นแบบเต็มใจ หรือยอมจำใจ ถูกสั่ง ไม่มีทางออกไม่มีทางเลือก ซึ่งเชื่อว่า ไม่มีทางที่นักการเมืองจะทุจริตโดยปราศจากความร่วมมือจากข้าราชการ
“ไม่ว่าเราจะมีกระบวนการตรวจสอบเข้มแข็งอย่างไร การคอรัปชั่นไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ลดน้อยลง ขอให้ตระหนักว่า โครงการไทยเข้มแข็งประเทศไทยกู้เงินมา หากวันนี้เงินที่ใช้ส่วนหนึ่งมีการทุจริตคอรัปชั่น ส่วนหนึ่งใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะนำมาพัฒนาประเทศ กลับกลายเป็นหนี้ที่เหลืออยู่ และยังทำให้ฐานะการคลังอ่อนแอลงอีก ฉะนั้นแม้การใช้งบฯ จะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร หากสามารถทำให้ไปในทางที่ถูกที่ควร” รศ.ดร.นวลน้อย ตั้งคำถามเรื่องงบฯไทยเข้มแข็งให้คิด การจัดสรรงบฯ ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วหรือไม่ และเห็นว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีแผนแม่บทในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้วันนี้ต้องมาทะเลากัน ซึ่งหากมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร จัดสรรงบประมาณได้
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า วันนี้ รัฐบาลส่งสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นจึงมีเวลาสะสางว่า ควรนำเงินไปลงทุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ส่วนแนวทางป้องกันควรมีการทำเกณฑ์ ระบบมาตรฐานขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึก อาคาร เหมือนทุจริตยามีการทำราคากลาง
สำหรับคำถามที่ว่า ขั้นเตรียมการทุจริตจะสามารถเอาผิดได้หรือไม่นั้น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีหวัง พร้อมยกคำกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ท่านหนึ่ง ที่เคยพูดว่า "เวลาที่ท่านดูอะไรทุจริต จะดูว่า มีการบิดผันอำนาจหรือไม่ คือ มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดปกติ ไม่ชอบหรือไม่ ดังนั้นการเตรียมการส่อเจตนาทุจริตเป็นการบิดผันอำนาจ อาจบ่งชี้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบได้"