อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ถอดบทเรียนคดีมาบตาพุด
แนะเงื่อนไขประเด็นสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม รัฐต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ระบุ โชคดีที่ยังมีพรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 เขียนไว้ชัดเจน ขณะที่รธน.ตัวจริงกลับเขียนแบบอ้อมแอ้ม ตั้งคำถามหรือรัฐไม่พร้อมให้สิทธินี้กับปชช.
ในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “มาบตาพุด-เขตควบคุมมลพิษ-การระงับโครงการชั่วคราว:ทางออกประเทศไทย?” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 14 สถาบันข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) วันนี้ (17 ธ.ค.) รศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังเดินซ้ำรอยประเทศญี่ปุ่นที่เจอปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจและ
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 ทุกวันนี้คดีฟ้องร้องมีอีกหลายคดียังไม่จบ แต่ญี่ปุ่นก้าวข้ามปัญหานี้ไปแล้ว เราจึงจำเป็นต้องมาช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมว่า ควรเป็นอย่างไร พร้อมเห็นว่า ขาข้างหนึ่งประเทศจำเป็นต้องไต่ระดับทางด้านอุตสาหกรรม ยังจำเป็นต้องมีการลงทุนจากต่างชาติ ต้องหนีเวียดนาม ประเทศอื่นๆ ให้ได้ แต่ในมุมกลับกันปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา จะจัดการอย่างไร
ขณะที่ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมเปรียบเทียบเป็นมหากาพย์เรื่องยาว ยังไม่จบ ขณะที่หลายภาคส่วนออกมาแสดงความกังวลห่วงเศรษฐกิจของประเทศชาติจะได้รับความเสียหาย
ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวในหัวข้อ “มาบตาพุด: Episode I และ Episode II” ว่า จากคำสั่งศาลปกครองกลาง และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีมาบตาพุด ทำให้สังคมไทยจากที่เคยเพิกเฉยดูดาย เริ่มหันกลับมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมมองว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวนั้น เป็นวิธีการพิจารณาความปกติ ไม่ได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์
สำหรับทางออกของประเทศในเรื่องนี้นั้น ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า เริ่มแรกต้องคิดบวก ซึ่งการมาช่วยหาทางออกกรณีนี้ไม่ใช่ทำเพื่อใคร หรือองค์กรใด แต่เพื่อประเทศไทย และในฐานะนักวิชาการ ก็พอจะมองเห็นทางออกอยู่รำไร และว่า “มีการพูดบ่อยว่า ปัญหาทุกปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยกฎหมายเท่านั้น คนยังเข้าใจผิดคิดว่า กฎหมายเป็นเหมือนยาสารพัดโรค เป็นแก้วสารพัดนึก อยากได้อะไรที่ดีที่งามก็เขียนกฎหมาย ทั้งนี้กฎหมายเป็นแค่มิติหนึ่งในหลายๆมิติของ กระบวนการในสังคม”
นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า การพัฒนาที่พึงประสงค์ ที่ทั่วโลก เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไปกันได้ดีกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงการพัฒนาที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี ก็จะไม่มีคำถามตามมาเกี่ยวกับบทบาทของกระบวนการยุติธรรม
“หากมีการพูดว่า รัฐมีหน้าที่อำนวยการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว การบริหารจัดการ โครงสร้างอำนาจ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ บริหาร ในอีกมุมมองถ้า 2 ฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ ฝ่ายที่ 3 น่าจะเข้ามาค้ำยันได้ ในการอำนวยการเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว และว่า หน้าที่ของศาลเมื่อเห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้ถูกอำนวยการให้เกิดความสมดุล ระหว่างสองสิ่งนี้ เนื่องจากรัฐมองความสำเร็จวัดที่จีดีพี การลงทุน จึงมีคำถามว่า แล้วทำไมไม่ให้องค์กรที่ 3 เข้ามาค้ำยันในด้านที่ท่านเล่นได้ นี่คือบทบาทพึงประสงค์ของผู้พิพากษา ตุลาการ กระบวนการยุติธรรม มิใช่หรือ ส่วนหน้าที่ของศาล กำลังอำนวยการการความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนัยยะสำคัญลึกซึ้งมากกว่าความยุติธรรมในความหมายทั่วๆไป
ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า เหรียญทุกเหรียญมีสองด้าน หัวกับก้อยฉันใด ประเด็นสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องที่เป็นแฝด ไปด้วยกันตลอดเวลา ทั้งนี้ ไม่ต้องแปลกใจที่เห็นรัฐธรรมนูญบางประเทศ หรือกฎหมายบางประเทศ ไม่สามารถเขียน Life to Environment ได้อย่างชัดแจ้ง จะเขียนอ้อมแอ้มภายใต้นัยยะสิทธิสุขภาพที่ดี
“เงื่อนไขประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ประเทศไทยเขียนเรื่องนี้ไว้คนละที่ คนละฉบับ ยังดีใจพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2550 เขียนไว้ชัดเจนประหนึ่งว่าเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง ทั้งที่รัฐธรรมนูญตัวจริงเขียนแบบอ้อมแอ่ม" ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า หรือเรายังไม่พร้อมให้สิทธิตัวนั้นกับประชาชน ในอนาคตหากมีรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ก็ควรมีการผลักดันประเด็นนี้ให้คมชัดขึ้น เกิดประสิทธิผลจริงจัง เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้ฝ่ายปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ นำไปอำนวยความยุติธรรมต่อไป