ภาระกิจเร่งด่วน รบ.อภิสิทธิ์เยียวยาความไม่เป็นธรรมในสังคม
นายกฯ ยอมรับสังคมไทยมีปัญหาการละเมิดสิทธิฯ จนนำมาสู่ความขัดแย้ง ย้ำชัดรบ.กำลังเร่งออกกม.ควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ คาดจะทำให้การออกกม.พิเศษ ทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ลดน้อยลงไป
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (14 ธ.ค.) ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดมหกรรมงานสิทธิมนุษยชน "รู้สิทธิ รักสิทธิ ไม่ละเมิดสิทธิ" เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2552 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อรณรงค์ให้สังคมเกิดความตระหนัก เห็นคุณค่าในการส่งเสริมปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้มีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นประจำปี 2552 ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นักต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร เป็นผู้นำชาวบ้านต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในเขตภาคอีสาน ในการต่อต้านเหมืองแร่โปแตซ ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่ นางหอมหวล บุญเรือง นักต่อสู้เพื่อปกป้องแหล่งต้นน้ำแม่ออกฮู จังหวัดเชียงราย และคัดค้านการทำโรงโม่หินในเขตภาคเหนือ ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่รวมตัวกันดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากปัญหามลพิษที่เกิดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
สำหรับประเภทองค์กรภาครัฐ ปีนี้ไม่มีหน่วยงานใดมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ขณะที่รางวัลเกียรติยศผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน กสม.ได้พิจารณาเห็นสมควรมอบรางวัล ให้แก่ ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อุทิศตนเพื่อสังคมปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศและผู้ลี้ภัย และรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยนชนด้านสิทธิของกลุ่มและชาติพันธ์
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ รัฐบาลกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางกลุ่มสหภาพแรงงานบริษัทไทรอัมพ์ ได้มาถือป้ายร้องเรียนหลังประสบภาวะตกงานมานาน และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลต่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละด้านยังมีอยู่ ซึ่งภาระกิจเร่งด่วนของรัฐบาล คือการเยียวยาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม ยึดหลักนิติธรรม ทั้งปัญหาการเมือง ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา การใช้ทรัพยากร
โดยเฉพาะด้านการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมแต่ละครั้งก่อให้เกิดความรุนแรง จึงเป็นต้องอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันได้เร่งออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งจะทำให้การออกกฎหมายพิเศษ ทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ลดน้อยลงไป
“ประเทศไทยอยู่ในภาวะขัดแย้งทางการเมืองสูง ทำให้เกิดสภาพปัญหาการใช้สิทธิจนนำไปสู่ความขัดแย้ง 1 ปี รัฐบาลชุดนี้ให้แนวทาง ความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองมีอยู่ตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย คนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาล มีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า ส่วนเรื่องกฎหมายคอมพิวเตอร์ นั้น การบังคับใช้กฎหมายยังมีปัญหา ซึ่งรัฐบาลระมัดระวังกำลังทบทวนจุดสมดุล โดยจะไม่มีการใช้กฎหมายใดๆเพื่อประโยชน์ในการทำลายล้างทางการเมืองเด็ดขาด
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า กรณีที่กำลังท้าทายสังคมไทย คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนที่เกิดจากกระบวนการพัฒนา เป็นความขัดแย้งที่เห็นชัดเจน ที่มาบตาพุด หลังมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รัฐบาลก็กำลังหาแนวทาง หาจุดสมดุล พร้อมมองว่า ดุลยพินิจที่ฝ่ายบริหารใช้ไม่ตรงกับดุลยพินิจของศาล แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและภาคเอกชนพร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้การดำเนินการต้องไม่กระทบการพัฒนา ไม่ละเมิดสิทธิชุมชน จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย แก้ปัญหามาบตาพุด ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเร่งหาคำตอบ