ดร.เอนกเสนอตั้งกระทรวง-หน่วยงานฟื้นฟูชนบท
ชี้อีก10ปีต่อจากนี้ไป การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ความไม่เท่าเทียมระหว่างชนบท-เมือง คือ ภารกิจหลักการพัฒนาการเมือง มองประชาธิปไตยที่จะไปรอด ต้องยอมรับทั้งเหลืองและแดง
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุม “เวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ 24 ณ โรงแรมสยามซิตี้ มีศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน พร้อมนักวิชาการทรงคุณวุฒิ ซึ่งทำงานในนามสถาบันเครือข่ายทางปัญญา ร่วมประชุม โดยดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอหัวข้อ “ฤาจะมีจุดคานงัด: แง่คิดและข้อเสนอเพื่อนำไทยคืนสู่ความปรองดองและสมานฉันท์”
ดร.เอนก กล่าวถึงการเมืองช่วงปี พ.ศ.2549-2552 ว่า แบ่งได้ 2 แบบ คือ แดงหรือคล้ายแดง ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 –ปัจจุบัน เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกั
บฝ่ายเผด็จการหรืออภิสิทธิ์ชน เป็นการต่อสู้ที่ทุนใหม่ ประชาชน เกษตรกร คนจนสู้กับระบบศักดินา ทุนเก่า ทหาร อภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นการมองแบบสีแดงหรือคล้ายแดงที่มีเกษตรกร คนในชนบทเป็นส่วนประกอบหลัก
“และอีกแบบคือเหลืองหรือคล้ายเหลือง เป็นการต่อสู้ระหว่างขบวนประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม มีความภักดีต่อสถาบัน ต่อสู้กับทุนสามาณย์ที่ใช้เผด็จการเสียงข้างมาก โกงกินละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุกคามสถาบันต่างๆ ซึ่งในกลุ่มนี้มีชนชั้นกลางและคนในเมืองเป็นส่วนประกอบหลัก”
ดร.เอนก กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยที่จะไปรอด คือประชาธิปไตยที่ยอมรับทั้งเหลืองและแดง ทั้งเมืองและชนบท รวมทั้งต้องคำนึงถึงเสียงที่เป็นเกษตรกร คนจน ชนบท คนต่างจังหวัด และเห็นว่า จากนี้ไปอีก 1 ทศวรรษ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมระหว่างชนบทและเมือง คือภารกิจหลักในการพัฒนาการเมือง โดยการพัฒนาต้องสวนทิศจากของเดิมนำทรัพยากรเงินทุนมันสมองแรงงานจากในเมืองและต่างประเทศเข้าสู่ชนบท และถ้าจะให้ไทยเข้มแข็งต้องมีความชัดเจนเรื่องงบประมาณเพื่อกอบกู้ฟื้นฟูชนบท ซึ่งควรเริ่มต้นที่หมู่บ้าน
สำหรับเรื่องการศึกษา ดร.เอนก กล่าวว่า ต้องให้ทักษะความรู้เพื่อสร้างเกษตรกรให้ยืนหยัดอยู่ในชนบทอย่างเข้มแข็งและก้าวหน้า หรืออาจจะต้องตั้งกระทรวงหน่วยงานที่เทียบเท่าเพื่อฟื้นฟูชนบทอย่างสร้างสรรค์
“การพัฒนาประเทศตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบันโดยเฉพาะการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้ภาคชนบทต้องแบกรับภาระ ค่าใช้จ่าย ความเสียหายที่เกิดจาการพัฒนาอย่างหนัก ชนบทไทยได้เสียสละตัวเองเพื่อการเติบโตของเมืองอย่างมหาศาลจนอยู่ในสภาพอ่อนแอ โดยเฉพาะที่ภาคอีสานที่ดูจะมืดมนและลำบากที่สุด ด้วยเหตุนี้อีสานจึงเป็นดินแดนแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเสมอๆ”ดร.เอนก กล่าว และว่า จากผลการสำรวจพบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนของคนที่มีรายได้ต่ำสุดกว่าทุกภาค และมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือสัดส่วนของคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวทั้งของเหลืองกับแดงรวมกันมีเพียง12% ของประชากรทั้งประเทศ คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการเหลืองและแดงที่กำลังห้ำหั่นกัน