รมว.ยธ.ย้ำต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจเด็ก-เยาวชน
ปฏิบัติต่างจากผู้ทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ พร้อมเสนอทางแก้ไขปัญหางบฯ ที่มีจำกัด ตั้งคณะกรรมการร่วมนำงบฯ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยต่างๆ มาร่วมกันดำเนินงานภายใต้เป้าหมายเดียวกัน
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในการประชุมวิชาการ “เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโดยสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สังกัดศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยระบุปัญหากระบวนการยุติธรรมในเด็กและเยาวชนของไทยอยู่ที่เรื่ององค์กร บุคลากรที่เกี่ยวข้องขาดความเข้าใจเมื่อเด็กและเยาวชนกระทำผิด รวมทั้งในส่วนของงบประมาณที่มีจำกัด
นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงดูแลเด็กและเยาวชนที่ทำความผิดว่า ต้องปฏิบัติต่างจากผู้ทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ ปัจจุบันการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนไทย เมื่อเข้าสู่กระบวนยุติธรรมบุคลากรผู้รับผิดชอบยังขาดความเข้าใจ คิดว่าคนเมื่อกระทำความผิด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ผิดเหมือนกัน โดยควรดูเจตนา เด็กอาจไม่ได้กระทำความผิดจากจิตใจที่เป็นโจร ทำไปด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบ เช่น ประสบปัญหาทางครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ หรือปัญหาด้านพัฒนาการเจริญวัย ซึ่งเป็นธรรมดาของวัยแห่งการแสวงหาและเรียนรู้ เด็กยังมีโอกาสที่จะกลับตัวได้ ต้องได้รับการดูแล ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้สังคม
สำหรับปัญหาเรื่องงบประมาณในการดูแลเด็กและเยาวชนที่มีจำกัด รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้งบประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่กรอบการทำงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ละปีต้องจ่ายงบให้กรมราชทัณฑ์อย่างน้อย 7.9 พันล้านบาท ประมาณ 3 พันล้านบาทใช้ในการดูแลนักโทษ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7 พันล้านบาทต้องนำมาบริหารจัดการกับอีก 11 กรม ทำให้กรมพินิจฯ และกรมคุมประพฤติได้รับงบประมาณเพียง 7-8 ร้อยล้านบาท
“กรมพินิจฯ นอกจากมีหน้าที่ทำให้เด็กที่กระทำผิดสามารถกลับสู่สังคมได้แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูแลเด็ก วันนี้มีเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกว่า 9,000 คน และต้องใช้งบฯ กว่า 200 ล้านบาทต่อปีในการดูแล 1 ใน 3 ของงบฯ ทั้งหมด” นายพีระพันธุ์ กล่าว และว่า หนทางที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายงบประมาณของแต่ละหน่วยงานควรประสานงาน สร้างคณะกรรมการร่วมในการนำงบประมาณที่กระจายอยู่ตามหน่วยต่างๆ มาร่วมกันดำเนินงานภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งปรับการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกร้องงบประมาณเพิ่มอย่างเดียว