TDRI เปิดผลโพลชิ้นแรกสำรวจช่วงสถานการณ์การเมืองคุกรุ่น
เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี คนรวย คนจน ติดตามข่าวสาร สอดส่องพฤติกรรมนักการเมืองไม่แพ้กัน คึกคักทางการเมืองร่วมชุมนุม เดินขบวน ประท้วง ต้องยกให้คนกลุ่มล่าง โพลย้ำชัดคนส่วน ไม่ได้มองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย ยังมอง กกต. ในแง่ดี
ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอผลการสำรวจ “ทัศนะประชาชนต่อการเมือง และสวัสดิการสังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม” เป็นการสำรวจความเห็นประชาชน 4,097 ครัวเรือน ทั่วประเทศ เมื่อเดือนส.ค.-ก.ย.2552 ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดสวัสดิการสังคม และการเมือง (การเลือกตั้ง กิจกรรมทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง)
คนจนรับไม่ได้ ช่องว่างคนจน-รวย ห่างมาก
ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงจุดเด่นของผลการสำรวจครั้งนี้ ว่า เป็นโพลที่เชื่อมโยงกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้มีความน่าเชื่อถือแม่นยำสูง สามารถเป็นตัวแทนประชากรได้ดี เพื่อตอบโจทย์ เรื่องการจัดระบบสวัสดิการ ที่น่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเมือง ( Political Support) มากที่สุดคืออะไร จุดยืนทางการเมืองที่ขัดแย้งในปัจจุบันมีความสัมพันธ์ แตกต่างจากฐานะทางเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร แนวทางลดความขัดแย้งทางการเมืองที่มี Political Support ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ดร.สมชัย กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะต่อความจน ความรวย และความเลื่อมล้ำ ว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ความจนความรวย ตกทอดเป็นรุ่นๆ เมื่อถามว่า คิดอย่างไรเรื่อง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในเมือง ผลสำรวจพบ ประชาชน 43.3% บอกว่า ห่างมาก แต่ยังพอรับได้ อีก 34.4% บอกว่า ห่างมากจนรับไม่ได้
“ที่น่าสนใจแต่เมื่อถามความเห็นแยกตามลำดับชั้นฐานะของผู้ตอบ กลุ่มคนที่จนที่สุด บอกว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในเมืองห่างมากจนรับไม่ได้ มีสัดส่วนสูงกว่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลต่อความคิดเห็นทางการเมือง” ดร.สมชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ควรแก้ปัญหาช่องว่างคนรวยคนจนอย่างไร 5 ลำดับแรก ผลสำรวจพบว่า ประชาชน 27.2% เห็นว่า ควรให้การศึกษาและดูแลสวัสดิการคนจนมากขึ้น 19.1% ให้ขึ้นภาษีคนรวยแล้วนำเงินมาช่วยคนจน 13.2% ให้กำจัดการโกงกิน ระบบเส้นสาย ระบบพวกพ้องให้หมดไป 13.1% ให้รัฐปฏิบัติต่อคนจนคนรวยเท่าเทียมกัน และ11.1% อยากให้คนจนเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น
ปชช.หนุนรัฐทุ่มงบฯเพิ่มสวัสดิการด้านการศึกษา
มาดูผลสำรวจทัศนะต่อการให้สวัสดิการโดยรัฐ เมื่อถามว่า การให้สวัสดิการของรัฐควรมีหรือไม่ และให้อย่างไร ผลสำรวจพบว่า ประชาชน 39 % ต้องการให้ทุกคนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน แต่คนจนได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง 32.5% บอกว่า ทุกคนได้รับสวัสดิการพื้นฐานเท่าเทียมกัน และ 21.4% ระบุ คนยากจนเท่านั้นที่ควรได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน
ถ้ารัฐบาลขึ้นภาษี อยากให้นำเงินมาทำอะไรนั้น 5 ลำดับแรก พบว่ า คนส่วนใหญ่ 23.7% อยากให้นำเงินไปช่วยด้านการศึกษา หรือฝึกอาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงาน 14.1% แก้ปัญหาหนี้สินคนจน 12.3% การรักษาพยาบาล 11.5% ช่วยคนแก่ที่ยากจน พิการ และ 10.6% ช่วยเรื่องการประกันราคาพืชผล
ทุกคนกังวล ความขัดแย้งทางการเมือง
ส่วนปัญหาของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด ผลสำรวจพบ ประชาชนส่วนใหญ่ 23% บอกว่า ปัญหาเศรษฐกิจ 17.8% ยาเสพติด และ16.9 % ปัญหาความยากจน ตามลำดับ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สำหรับคำถามนี้ คำตอบ 3 ลำดับแรกไม่น่าแปลกใจ ซึ่งเมื่อสำรวจก็จะได้คำตอบนี้กลับมา แต่ลำดับที่ 4 ผลสำรวจ 13% อยากให้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หมายความว่า ทุกคนกังวลเรื่องนี้ เพิ่มเติมจากปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คนทุกกลุ่มเห็นพ้องกันว่า ต้องแก้ไข สำหรับผลสำรวจเรื่องกิจกรรมทางการเมือง และทัศนะต่อความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า นอกจากประชาชนจะออกไปเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. การเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว กิจกรรมอื่นๆ เช่น การติดตามข่าวสารทางการเมือง รวมทั้งการสอดส่องพฤติกรรมนักการเมือง คนจนก็ร่วมสอดส่องด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการร่วมชุมนุมทางการเมือง เดินขบวน ประท้วง คนกลุ่มล่างร่วมชุมนุมมากสุด
เมื่อถามถึงสาเหตุความขัดแย้งทางการเมือง คนส่วนใหญ่ 32.5% เห็นว่า นักการเมืองและผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว อีก 23% เห็นว่า เกิดจาก ประชาชนแบ่งขั้วไม่ยอมกัน ดร.สมชัย กล่าวว่า จากผลสำรวจนี้ ทำให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่มองความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสายตาของคนตรงกลาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การแบ่งขั้วทางความคิดทางการเมือง เป็นลักษณะของคนส่วนน้อย
“แม้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นตัวจุดไฟความขัดแย้งทางการเมือง แต่มาจากปัจจัยทางการเมืองเอง แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือยากจน ขณะที่วาทกรรมที่กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นคนจน และกลุ่มคนเสื้อเหลืองคือชนชั้นกลาง หรือคนมีฐานะ ไม่เป็นความจริง เพราะผลจากการวิจัยพบว่า คนทั้งสองกลุ่มกระจายตัวในทุกระดับชั้นพอพอกัน ทั้งนี้ยังมีคนอยู่ตรงกลาง” นายสมชัย กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา คนส่วนใหญ่ยังเชื่อในบทลงโทษการคอรัปชั่น รวมทั้งบทลงโทษทางการเมืองด้วย รวมทั้งให้มีการป้องกันและตรวจสอบ ที่สำคัญมีโพลก่อนหน้านี้ สำรวจพบว่า คนยอมรับได้นักการเมืองคอรัปชั่นได้ถ้ามีผลงาน แต่ผลสำรวจนี้ คนไม่ยอมแลก มีคนตอบแค่ 0.2% ที่ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่นของนักการเมือง ถ้านักการเมืองมีผลงาน
ทำประโยชน์ให้ท้องถิ่นติดอันดับเหตุผลกาเลือกส.ส.
ในหัวข้อ การเลือกตั้งและแนวทางแก้ไขปัญหา ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากผลสำรวจพบ เหตุผลหลักอันดับ 1 ในการเลือก ส.ส. ที่สำคัญ มีทั้งด้านตัวบุคคล เป็นคนดีมีความรู้ และด้านพรรคการเมือง นโยบายและความนิยมพรรค/หัวหน้าพรรค เหตุผลลำดับ 2 ที่เพิ่มเข้ามา คือ การทำประโยชน์ให้ท้องถิ่น
“เหตุผลที่มีผู้ตอบน้อยมากและค่อนข้างน้อย คือความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมาย เป็นไปได้มากว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ได้มองบทบาท ส.ส. ว่า เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งอาจแตกต่างจากแนวคิดที่พยายามปฏิรูปการเมืองโดยลดหรือตัดบทบาททางการเมืองของ ส.ส. เช่นในรัฐธรรมนูญปี 2550”ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่า ข้อเสนอของประชาชนต่อการแก้ไขระบบเลือกตั้ง กลุ่มตัวอย่างประชาชน2ใน3 66% ตอบว่า ส.ส. และส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และคนส่วนใหญ่มีภาพมีพอสมควรกับนักการเมือง ไม่ได้มองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย และมองคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในแง่ดี ยังหวังพึ่งกกต.ในการจัดการกับนักการเมืองที่โกงการเลือกตั้ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 11.6% ที่เสนอให้ลดบทบาทกกต.ลง
สื่อแบ่งขั้วไม่ประสบความสำเร็จ-ถูกรู้ทัน
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจใครหรือองค์กรใดควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า มีข้อสังเกต เพียงกรณีเดียวที่อาจถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมาก กลุ่มตัวอย่าง 46% เห็นว่าควรลดบทบาทสื่อที่เป็นตัวแทนของขั้วการเมือง (เช่น เหลือง หรือแดง) ลง ในขณะที่อีก 16% ต้องการให้สื่อกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนบทบาท ซึ่งก็สรุปได้ว่า สื่อแบ่งขั้วไม่ได้ประสบความสำเร็จ และถูกรู้ทันโดยประชาชนมากกว่าครึ่งประเทศ
“และแม้ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตสนใจไปที่เรื่องอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากกว่า เช่นเรื่องเศรษฐกิจ ยาเสพติด และการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือน ขณะที่กลุ่มคนข้างบน ดูเหมือนได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า จึงสมควรเฝ้าระวังผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เพราะมีศักยภาพสูงที่จะสร้างผลกระทบต่อไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น” ดร.วิโรจน์ กล่าว