คุยก่อนไม่เสียหน้า“สุรเกียรติ์” เสนอรบ.ฟื้นความสัมพันธ์เขมร
อดีตรมว.ต่างประเทศ เรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ประวัติศาสตร์เตือนสติ ลดกระแสชาตินิยม เชื่อถึงเวลาแล้วต้องชำระประวัติศาสตร์ไทย-เขมรให้ตรงกัน...
วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ยกเครื่องเรื่องกัมพูชา” โดยมีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในกระแสความขัดแย้งการเมืองไทย” ณ อาคารพระชาธิปก-รำไพพรรณี พร้อมนักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมฟัง ทั้งนี้ มีการเสนอให้รัฐบาลแสดงความเป็นผู้ใหญ่ ขอเปิดการเจรจาก่อน เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชา เพราะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ของรัฐบาล แต่เป็นความสัมพันธ์ของคนทั้งสองชาติ
ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านย้ายหนีกันไม่ได้ ดังนั้นนโยบายที่สำคัญที่สุดของการต่างประเทศ คือ นโยบายกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะประเทศใหญ่หรือเล็ก ไม่ใช่เพียงมิติเศรษฐกิจต้องรวมถึงมิติการเมือง สังคม และความมั่นคงด้วย อีกทั้งต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
“คนไทยต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเลวร้ายเกิดซ้ำอีก ไม่ใช่เรียนรู้แล้วจมในประวัติศาสตร์ ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องเตือนสติ นำสิ่งที่ดีจากมาใช้ สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ให้เกิดขึ้น คือ หลักการสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา” อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าว และว่า ความสัมพันธ์ที่ผ่านมาระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วง 200-400 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ภูมิภาครบกันเพื่อขยายอาณาจักรในอดีตและทำให้เราถูกฝังความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน ส่วนช่วงยุคสงครามเย็นนโยบายต่างประเทศของไทยก็ให้ความสำคัญกับชาติตะวันตก แสดงจุดยืนที่ซับซ้อนและค่อนข้างขัดแย้งกันเองระหว่างการสนับสนุนค่ายประชาธิปไตยและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และขณะนั้นไทยไม่ยอมรับกัมพูชาฝ่ายสมเด็จฮุนเซน ทำให้เป็นหนึ่งปมความขัดแย้งในความสัมพันธ์
ส่วนสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้านั้น อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยกับกัมพูชาได้ยุติการทะเลาะกันเรื่องอุดมการณ์ ลัทธิทางการเมือง ความแตกต่างในการบริหารราชการแผ่นดิน มุ่งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม เป็นบันไดลงจากความขัดแย้งให้แก่ไทย เวียดนาม และกัมพูชาในเวลานั้น ความสัมพันธ์พัฒนาขึ้นมาก แต่ยุคปัจจุบันความสัมพันธ์ตกต่ำ ไม่แน่นแฟ้น มีความขัดแย้ง
ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงความขัดแย้งไทย-กัมพูชาในปัจจุบัน ว่า เกิดจาก 1.ปัญหาความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ที่ฝังใจประชาชนและผู้นำที่เป็นแผลในใจของคนทั้งสองชาติ 2.ความไม่ชัดเจนจากเส้นแบ่งเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเล 3.ปัญหาค่านิยมทางการเมืองและกระแสความรักชาติของทั้งสองประเทศที่พร้อมจุดขึ้นทุกเมื่อเพื่อผลทางการเมือง 4.การดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่เน้นความเข้าใจและความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นนโยบายในเชิงอารมณ์มากกว่ายุทธศาสตร์ ขาดความรอบคอบในบางเรื่องบางครั้ง 5.ความไม่ต่อเนื่องของฐานข้อมูลในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย และ 6.รัฐบาลไทยมีความว่องไวเกินไปและขาดเอกภาพในการให้สัมภาษณ์เรื่องการต่างประเทศกับสื่อ มีหลายคนออกมาพูดจนเกิดความสับสน
“การแสดงความคิดเห็นจากหลายหน่วยงาน เป็นอันตรายอย่างมากต่อการบริหารนโยบายต่างประเทศ ปัญหานี้เป็นสิ่งที่แก้ได้ง่าย และควรแก้” อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าว และว่า วันนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ผลไม่ได้แก้ที่เหตุ เราต้องยึด 4 หลักในการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ 1.ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน 2.ไทยต้องไม่ยินยอมให้บุคคลใดใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน 3.ต้องให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน และ4. ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งหมดต้องใช้เวลาค่อยๆ พัฒนาฐานความสัมพันธ์แก่กันให้มั่นคงต่อไป
เมื่อถามว่าทำอย่างไรให้ลงจากบันไดความขัดแย้งนี้ได้ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ต้องลดกระแสรักชาติแบบชาตินิยม ให้ประชาชนเข้าใจในพื้นฐานสถานการณ์มากกว่านี้ ต้องดูจุดแข็งจุดอ่อนอำนาจต่อรองของไทยที่มีต่อกัมพูชาและต้องรู้ว่ากัมพูชาจะทำอะไรต่อไป ที่สำคัญไทยต้องเปิดประตูเจรจากับกัมพูชา การขอเจรจาก่อนไม่ใช่เรื่องเสียหน้า หากแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ โดยต้องส่งคนที่เขาอยากเจรจาด้วยไปเจรจา รวมทั้งควรจะชะลอการยกเลิกเอ็มโอยู อย่างน้อยที่สุดต้องรู้ว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการยกเลิก
ดร.สุรเกียรติ กล่าวว่า ในระยะยาว ไทยกับกัมพูชาต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาปราสาทเขาพระวิหาร เน้นความสัมพันธ์ภาคประชาชน และรัฐบาลควรสนับสนุนการทำงานสมาคมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา ให้นักวิชาการทั้งสองประเทศได้ร่วมกันชำระประวัติศาสตร์ให้ตรงกันและวิจัยร่วมกัน ส่วนสื่อมวลชนทั้งสองประเทศก็ควรมีการสื่อสารกันให้มากขึ้น
“ต้องขอย้ำว่าปัญหาการเล่นกีฬาสีภายในประเทศไทยนั้น ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องมีความจริงใจ อยู่เหนือผลประโยชน์หรือความขัดแย้งส่วนตัว ต้องแยกปัญหาการเมืองภายในออกจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องแสดงจุดยืนต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และต้องแสดงความพร้อมในการหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกร่วมกัน”ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว