ฉายอดีตต้นตอความขัดแย้งทางการเมือง“โฆสิต” เชื่อปฏิรูปศก.ช่วยได้
ปธ.สภา TDRI ชี้ความยากจน คอรัปชั่น ความไม่เสมอภาคทางศก.คือรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมือง ถึงเวลาแล้วต้องร่วมมือกันหาทางออก และจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดเน้นในอดีต ที่มุ่งแต่ปฏิรูปกฎ กติกา สถาบันทางการเมือง
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม”(Economic Reforms for Social Justice) ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองว่า นับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงยากจะสงบลงได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักและร่วมมือ หันหน้าเข้าหากัน หาทางออกจากวิกฤติ
นายโฆสิต กล่าวว่า เมื่อพูดถึงทางออกจากวิกฤติ ต้องย้อนกลับไปดู ปัจจัยหรือปัญหาใดนำพาเราไปสู่วิกฤติ ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ ต้นตอปัญหาสำคัญในครั้งนี้เกิดจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาพื้นฐานเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ 2.ปัญหาจากการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย และอื่นๆ นอกจากนั้นมาตรการรัฐบางประการ เช่น ระบบสัมปทานต่างๆ ก่อให้เกิดผลตอบแทนส่วนเกินมหาศาล และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจบางรายสามารถใช้ผลตอบแทนส่วนเกินนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทั้งนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งที่รุนแรง 3.ปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เรื้อรังและรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นได้จากที่ประเทศไทยมีผู้ยากจน ตลอดมีแรงงานนอกระบบ เขาเหล่านี้ขาดสวัสดิการที่ควรได้รับจากการทำงาน ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐได้ ทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษา
“เมื่อปัจจัยทั้ง 3 ประการมารวมกัน เกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่นักการเมืองอาศัยนโยบายประชานิยม ซื้อใจประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส แนวทางนี้แม้จะประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างท่วมท้น ได้รับการตอบรับอย่างสูง แต่ก็สร้างข้อกังขาขึ้น”ประธานสภาทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า การดำเนินนโยบายเหล่านี้ มุ่งสร้างคะแนนนิยมจนละเลยวินัยการคลัง ดังนั้นคนชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงของสังคม ซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระภาษี และหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น จึงมีความกังวล มีคนจำนวนมากไม่สามารถยอมรับแนวทางดังกล่าวได้
นายโฆสิต กล่าวอีกว่า ปัญหาความยากจน การคอรัปชั่น ตลอดจนความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ เป็นรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมือง ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดเน้นจากเดิมในอดีต ที่มุ่งแต่ปฏิรูปกฎ กติกา และสถาบันทางการเมือง ต้องร่วมสร้างความเข้าใจว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจก็สามารถลดปัญหาความยากจน ลดผลตอบแทนส่วนเกิน ตลอดจนลดความไม่เสมอภาคลงได้ เป็นแนวทางที่น่าจะได้รับการพิจารณา ช่วยกันสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
“ผมขอยกคำกล่าวของท่านหนึ่งที่ได้เตือนสติพวกเราได้น่าฟัง ด้วยคำกล่าว ประเทศไทยเหมือนหม้อข้าวของเรา หากเราไม่รักประเทศของเราแล้ว ก็ให้ทุบหม้อข้าวนั้นทิ้งไปเสีย ผมคิดว่า หากเราไม่ร่วมมือ ไม่เข้าใจอันตรายและสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งของชาติ อาจจะยิ่งลุกลาม ท้ายสุดอาจส่งผลเสียร้ายแรงของประเทศ อย่างที่เราคาดไม่ถึง”นายโฆสิต กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เป็นความร่วมมือของทีดีอาร์ไอกับ 4 องค์กร คือสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
โครงการวิจัยเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ประกอบด้วยงานวิจัย 1. ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย 2.มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม 3.ทางเลือกของสวัสดิการสำหรับคนไทย 4.ทัศนะของประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยสถาบันฯ จะใช้ผลงานต่างๆเหล่านี้เป็นกรอบในการปฏิรูปต่อไป