ปิดบาดแผลประวัติศาสตร์ นักวิชาการแนะขั้นบันไดลงจากวิกฤติไทย-เขมร
ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ แนะรัฐบาลเลิกคิดกดดัน "ฮุน เซน" ปลด "ทักษิณ" พ้นที่ปรึกษา เชื่อเป็นข้อเรียกร้องที่เขมรทำไม่ได้ รีบก้าวข้ามทักษิณ แล้วหันมาปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาในหัวข้อ “รู้เขารู้เรา พลิกวิกฤตเป็นโอกาส รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง?” โดยนักวิชาการเห็นตรงกันว่า ไทยควรเปลี่ยนมุมคิดเรื่องกัมพูชาใหม่ เลิกมองกัมพูชาในฐานะลูกไล่ในประวัติศาสตร์ เพราะไทยไม่ใช่ตัวแสดงหลักในภูมิภาคนี้อีกต่อไปแล้ว
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่ได้มีเพียงมิติทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีมิติความสัมพันธ์ภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดบนฐานความรู้สึกของสังคม ซึ่งเป็นกระแสที่ฝังมานาน ตั้งแต่ทัศนคติเรื่องพระร่วง พระยาละแวก การเสียเขาพระวิหารจากคำตัดสินศาลโลก การเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา กรณีการขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก กระทั่งการตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา
“ความรู้สึก ทัศนคติต่อกัมพูชามีประวัติศาสตร์การเมืองซ้อนทับต่อเนื่องไม่ขาดตอนจนถึงปัจจุบัน เราไม่เคยมองพม่าว่าต่ำต้อยกว่าเรา ตรงข้ามกัมพูชาไทยมองเป็นลูกไล่ทางประวัติศาสตร์”ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าว และว่า กัมพูชาสามารถท้าทาย ทำในสิ่งที่ไม่เคยปรากฏ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำไทยทะเลาะกันแล้ววิ่งไปพึ่งใบบุญกัมพูชา อย่างไม่เคยมีในประวัติศาสตร์กัมพูชา และยังยกฐานะ ช่วยขับเน้นคุณสมบัติวีรบุรุษให้สมเด็จฮุน เซนไปในตัว
ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า หลังพ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากกัมพูชา เกมการเมืองพลิก รัฐบาลไทยที่เคยได้เปรียบ ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ตามแก้เกม ติดกับดัก ซึ่งจากนี้ไปการทำงานของรัฐบาลต้องโยนพ.ต.ท.ทักษิณ ทิ้ง ก้าวข้ามไปให้ได้ มิฉะนั้นจะลำบาก อีกทั้งไม่นำมาเป็นวาระแห่งชาติ เลิกให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะกัมพูชาจะแต่งตั้งเป็นอะไร และต้องเลิกกดดันให้กัมพูชาถอนการแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องที่กัมพูชาทำไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ควรเร่งหันมาสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างน้อยให้ความสัมพันธ์ทางการทูตกลับมาเป็นเหมือนก่อนส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชากลับประเทศ
ด้านนายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ไทย-กัมพูชา ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น มีเรื่องราวติดลบจำนวนมาก ไทยมองกัมพูชาเป็นลูกไล่ ขณะที่กัมพูชามองไทยแทรกแซงกิจการภายในตลอดเวลา เห็นชัดจากกรณีการแต่งตั้งอดีตนายกฯ ไทยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ทั้งๆที่เป็นเรื่องภายในกัมพูชา แต่เราไม่เข้าใจเรื่องเขตอำนาจของแต่ละประเทศ บันไดขั้นแรกต้องล้มเลิกมุมมองกัมพูชาด้อยกว่าไทยเสียก่อน ยุติการมองกัมพูชาเป็นเขตอิทธิพลของไทยตลอดเวลา ไม่ใช้การเมืองภายในประเทศมากำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ต้องเข้าใจว่าเรื่องเขาพระวิหารนั้นตัดสินจบไปแล้ว ควรหยุดใช้เครื่องมือปลุกกระแสชาตินิยมนี้แบบเก่าๆ เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาแย่ลงไปอีก และในกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ น่าคิดว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเอาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาแลกด้วยหรือไม่”นายศิโรฒน์ กล่าว
ส่วนนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาด้านพม่าของกลุ่มฮิวแมน ไรท์ วอทช์ กล่าวถึงกรณีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยที่ทำงานในบริษัทแคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส หรือ CATS ซึ่งถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในข้อหาเป็นสายลับจารกรรมข้อมูลตารางการบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า สังคมไทยต้องมองเรื่องนี้เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายภายในของกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฮุน เซน ต้องการใช้กลบกระแสข้อครหาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม จุดที่ไทยสามารถทำได้ คือเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสอย่างแท้จริง หรืออาจจะตั้งคำถามว่า นายศิวรักษ์ถูกจับโดยชอบธรรมหรือไม่ หลักฐานคืออะไร และทางกัมพูชาก็มีหน้าที่จะต้องตอบด้วย รัฐบาลไทยทำได้เต็มที่คือ ส่งทนายไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนนักธุรกิจไทยก็ได้บทเรียนเรื่องการทำธุรกิจที่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว แทนที่จะส่งเสริมเพื่อนบ้านให้มีประชาธิปไตย ซึ่งทำให้การทำธุรกิจยั่งยืนกว่า