วิพากษ์ รธน. ยาแรงลากพรรคการเมืองลงเหว
อดีตรองประธานส.ส.ร.ชี้ไม่ควรตั้งธง รธน.แก้ไขไม่ได้ แนะ ควรดูที่เหตุผล ด้านดร.ปริญญา ระบุ มีรธน.มา 18 ฉบับ สังคมไทยไม่เคยสรุปบทเรียน ใช้วิธีไล่จับตามแก้ เกิดปัญหาใหม่ไม่สิ้นสุด
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีอภิปราย เรื่อง “วิพากษ์รัฐธรรมนูญไทย: ประเด็นแก้ไขกรณีการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา”
ในที่ประชุมมีการนำเสนอมุมมอง ในประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทำการพิจารณาศึกษา โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นแรกเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมือง และประเด็นที่มาของ ส.ส.-ส.ว.
ยอมรับความจริง รธน.18 ฉ. เกิดจากปว.
นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญในประเทศไทยว่า ที่มีมากฉบับ เพราะปฏิวัติกันมากครั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ.2547 ก็มาจากการปฏิวัติ ใครที่รังเกียจรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ให้เหตุผลเป็นผลพวงจากการปฏิวัติ ขอให้ยอมรับความจริงเบื้องต้น ใน 18 ฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติถึง 16 ฉบับ
“ไม่ควรปักหลักว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่งใช้มา 2 ปี ทุกคนบอกเร็วเกินไป แต่หากคิดถึงการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ 2 ปี อาจช้าเกินไป เช่น วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. ไม่แก้ไขเดี๋ยวนี้ก็จะไม่มีวันได้แก้ เพราะถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้”
เรื่องของการตั้งพรรคการเมือง อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า พรรคการเมืองของไทยพัฒนามาเป็นเวลายาวนาน จนรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองครั้งใหญ่ที่สุด พรรคการเมืองตั้งง่าย ยุบยาก คน 15 คนก็ตั้งพรรคการเมืองได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ใช่ แต่ พัฒนาไปพัฒนามา กลายเป็น ยุบกันง่ายไป”
นายเดโช กล่าวอีกว่า การยุบพรรคการเมืองกระทบต่อคนหมู่มาก มีคนที่เกี่ยวข้อง 10 -14 ล้านคนโดยที่ไม่มีส่วนรับรู้เรื่องการทุจริต ฉะนั้นการตัดสินยุบพรรคการเมือง จึงเป็นมาตรการที่รุนแรง เด็ดขาดใช้เฉพาะกิจเฉพาะกาล แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ก็อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขได้
“ขณะที่การถอนสิทธิเลือกตั้ง คือบทลงโทษนักการเมืองทางการเมืองที่นับว่าหนักสุด อยากให้มองอีกมุมหนึ่ง กว่าจะสร้างนักการเมืองได้แต่ละคน พรรคการเมืองต้องใช้เวลาพัฒนา”
ส่วนเรื่องที่มาของ ส.ส. นายเดโช กล่าวว่า การขอแก้ไขกลับไปใช้วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.ในแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 คือการเลือกตั้งแบบพวงเล็ก ยอมรับว่า วันแมนวันโหวต เป็นวิธีการที่ดีที่สุด แก้ไขปัญหาการซื้อเสียงได้ระดับหนึ่ง ส่วนระบบปาร์ตี้ลิส เพิ่งมาใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งก็ดี จนมีการเปลี่ยนอีกในรัฐธรรมนูญปี 2550 แบ่งประเทศออกเป็น 8 โซน พยายามกระจายประชากรในแต่โซนให้เท่าๆกัน ไม่นับเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนอย่างที่เคยทำในปี 2540
ขณะที่ที่มาของ ส.ว. อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเถียงกันมาก ถ้าจะมีวุฒิสภา จะต้องเลือกตั้งอย่างเดียว พอรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เกิดลูกผสม เลือกตั้งและสรรหา ซึ่งแท้จริงก็คือการแต่งตั้ง แต่ใช้ภาษาใหม่ ทั้งนี้ไม่เชื่อว่า จะมีระเบียบสรรหาที่ให้ความเป็นธรรม
ดิเรกแจงแก้ม.237 ลดแรงกดดัน
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนนทบุรี และประธานกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวถึงการเรียกร้องให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีมาตั้งแต่ประกาศใช้ ด้วยอารมณ์นำเหตุผล และจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึงกว่า 10 ล้านคน ที่ได้ลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 ย่อมมีอารมณ์ค้างตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เรื่องที่มาของ ส.ส. การให้กลับไปใช้ปี 2540 เลือกตั้งแบบเขตเล็ก การเฝ้าระวังเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงทำง่ายกว่า ขณะที่พรรคเล็กก็มีโอกาสจะได้รับการเลือกตั้ง ส่วนที่มาของส.ว.เลือกตั้งครึ่งหนึ่งแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เข้าไปอยู่ในสภาฯ ก็มีปัญหาเช่นกัน ขัดแย้งกันทุกเรื่อง ถามว่าการสรรหาชอบธรรมหรือไม่ เพราะถูกเลือกมาจากคนเพียง 7 คน
นักวิชาการชี้แก้รธน.ใช้เพียงความเห็นไม่ได้
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฏหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่ควรใช้เพียงความเห็น เพราะแต่ละคนอยู่คนละมุม เห็นคนละอย่าง ทำให้การแก้ไขไม่เห็นภาพรวม ต้องใช้ข้อเท็จจริงประกอบ
“ปัญหาของไทยรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับที่ผ่าน เราไม่เคยสรุปบทเรียน แต่ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยวิธีการตามไล่จับ วิ่งไล่ตามแก้ การยุบพรรคก็เช่นเดียวกันแก้ไขปัญหาไม่ได้ ส่วนการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ตัวจริง เลือกตั้งครั้งที่แล้วยังไม่เห็นผลของมาตรา 237 วรรค 2 ว่า รุนแรงแค่ไหน เลือกตั้งครั้งหน้าจะได้เห็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เหลือแต่ตัวปลอม ยกเว้นหัวหน้าพรรค ฉะนั้น การยุบทั้งพรรคไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แถมยังทำให้ระบบการพรรคการเมืองไทยอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ”
ส่วนดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า หากมองการยุบพรรคการเมืองเป็นปัญหา แถมแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้ผล ก็ควรแก้ หลังจากมีการใช้มาแล้ว และพบว่า สิ่งที่ได้ใช้ไปไม่เหมาะสม โดยต้องดูว่าขัดกับระบบสังคม หรือไม่ ไม่ใช่ว่า เปลี่ยนรัฐบาลก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งบ่อยครั้งมีการเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2550 ไม่ได้เทียบเพื่อก่อแต่เทียบเพื่อทำลาย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง