นักวิจัย ชี้นโยบายพัฒนาของรัฐ กระแสทุนนิยม ทำลายวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อย
รองปธ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ยกกรณีการทำเกษตรของชาวกะเหรี่ยงที่กำลังก้าวเข้าสู่เกษตรแบบพาณิชย์ ใช้ปุ๋ย รถไถ จนนำไปสู่ภาวะหนี้สิน ค่อยๆ ละทิ้งคุณค่าทางวัฒนธรรม ถูกกระตุ้นให้คิดแบบคนเมือง หวั่นในที่สุดต้องกลายเป็นแรงงานราคาถูก
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นฤมล อรุโณทัย รองประธานสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการเครือข่ายผู้เสียโอกาส คนจนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการปฏิรูป ซึ่งมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธาน ปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดิน ชุดเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับชนกลุ่มน้อย: กะเหรี่ยง มอแกน อูรักลาโว้ย” ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ว่า ชาวเล ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ อูรักลาโว้ย มอแกลน และมอแกน มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยกลุ่มมอแกลน นับเป็นกลุ่มที่มีคนรู้จักน้อยมาก เนื่องจากได้รับการดูถูกดูแคลน จนกระทั่งรู้สึกด้อยค่าและพยายามลืมว่า ตนเองเป็นมอแกลน
“คนกลุ่มนี้ไม่อยากเป็นชาวเล เขาอยากจะเป็นชาวไทยใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี หากมองในแง่ที่ว่าจะทำให้ชาติไทยเป็นปึกแผ่น แต่หากเราพยายามไปกลืนความหลายหลากทางอัตลักษณ์ รวมทั้งลดความสำคัญทางวัฒนธรรมลง ก็ทำให้ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชาติเกิดขึ้น”
ดร.นฤมล กล่าวว่า ชาวมอแกน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีรัฐใดรับเป็นพลเมือง แต่สามารถคงความดั้งเดิมของวิถีชาวเลไว้ได้มากที่สุด ชาวมอแกนจะดำรงชีพด้วยการเก็บสะสมเปลือกหอย ปลิงทะเล รังนก ฯลฯ เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องการบนฝั่ง ส่วนเครื่องมือต่างๆ ก็ทำขึ้นตามทักษะความรู้ที่มีการสั่งสมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
“หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ได้มีความพยายามในการช่วยเหลือชาวมอแกนให้มีรายได้ โดยให้มอแกน ทั้งชายและหญิงเข้ามาทำงานในฐานะลูกจ้างรายวันของอุทยานฯ รับจ้างก่อสร้าง ขับเรือหางยาว เก็บขยะ แบกของ โดยคิดแต่เพียงว่าให้เขามีรายได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความรู้พื้นบ้าน ตลอดจนทักษะที่เป็นรากเหง้า มองเป็นแรงงานราคาถูก ในที่สุด ก็จะส่งผลให้ทักษะของชาวมอแกนค่อยๆ สูญหายไป”
ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า วิถีของชาวมอแกนเป็นวิถีชีวิตแบบพอเพียง อาศัยอยู่ในเรือ ไม่นิยมการสะสมทรัพย์สิน และไม่มีตรรกะของความเป็นเจ้าของ ซึ่งสวนทางกับตรรกะของคนส่วนใหญ่ที่มักจะสะสมเงินในบัญชี หรือแม้แต่นักวิชาการก็ยังสะสมการตีพิมพ์
ทั้งนี้ ดร.นฤมล ได้เปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงบริบทของชาวมอแกนกับชาวกะเหรี่ยงว่า ทั้งสองกลุ่มต่างมีความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง มีภาษาวัฒนธรรมของตนเอง สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน แม้ในพื้นที่อุทยานฯ รวมทั้งมีความรู้และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานาน ขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งจากแรงภายในและภายนอก
“นโยบายการพัฒนาของรัฐ กระแสการพัฒนาแบบทุนนิยม รวมทั้งระบบสังคมบริโภควัตถุนิยม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อย ยกตัวอย่างเช่น การทำเกษตรของชาวกะเหรี่ยงที่ก้าวเข้าสู่ระบบในเชิงพาณิชย์ การใช้ปุ๋ย ใช้รถไถ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและความรู้จากภายนอกกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น กระทั่งชุมชนค่อยๆ ละทิ้งคุณค่าทางวัฒนธรรมของตน และถูกกระตุ้นให้มีความคิดแบบคนในเมือง จนนำไปสู่ภาวะหนี้สิน และในที่สุดก็จะต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง”