“ประธานหอการค้าไทย” ตั้งเป้า ใช้โมเดล 1 ไร่ 1 แสน ร่วมลดความเหลื่อมล้ำ
พุ่งเป้าไปที่เกษตรกร 6 จังหวัด ภาคอีสาน “ขอนแก่น ,ชัยภูมิ ,กาฬสินธ์ ,อุบลราชธานี ,สกลนคร และสุรินทร์” สร้างเครือข่ายนักธุรกิจช่วยเหลือกัน หวังพลิกชีวิตเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น บนฐานความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อเร็วๆนี้ นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงการที่ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมว่า การจัดการความเหลื่อมล้ำให้ลดลงนั้น ต้องแก้ที่จุดต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชาชนในประเทศไทยที่มีรายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ แม้ว่าภาครัฐจะส่งเสริมให้มีการลงทุนในส่วนภูมิภาคเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ แต่ก็ยังไม่สามารถลดช่องว่างของรายได้มากนัก ประชาชนในภาคการเกษตรยังคงมีปัญหาความยากจน ดังนั้น การไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ จะไม่ได้ประโยชน์ ต้องเน้นไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ซึ่งจะเห็นได้ชัดมีปัญหานี้มาก
นายดุสิต กล่าวถึงการที่ทางหอการค้าแห่งประเทศไทย มีโครงการ 1 กรรมการ 1 จังหวัด ลงไปช่วยดูแลให้เกษตรกรมีชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นว่า เป็นการสร้างโมเดลต้นแบบ เพื่อให้ทั่วประเทศนำวิธีการไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในแต่ละจังหวัดมากที่สุด ขณะนี้ได้ริเริ่มไปแล้ว 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น ,ชัยภูมิ ,กาฬสินธ์ ,อุบลราชธานี สกลนคร และสุรินทร์ อยู่ระหว่างนำร่องทดลองศึกษา ก่อนขยายผลต่อไป
“จังหวัดที่ได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด คือ จังหวัดขอนแก่น ริเริ่มโครงการทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน ขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ โดยให้เกษตรกรที่อยากเข้าร่วมโครงการที่มีไร่คนละ 3-5 ไร่ เดิมจะได้เงินจากผลิตผลประมาณ 1 ไร่ เพียง 3-5 พันบาท เมื่อเข้าร่วมโครงการ จะผลักดันให้มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำแบบไร่นาสวนผสม ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ เพื่อเอาไว้บริโภคและขายเป็นรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องขยันขึ้น เหนื่อยขึ้น เปลี่ยนวิถีชีวิตที่เป็นเกษตรกรดั้งเดิมไป ก็จะทำให้ชาวบ้านรวยขึ้น มีความสุขขึ้น ถือเป็นโครงการเริ่มต้นที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ บนความรู้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายดุสิต กล่าว และว่า หลังจากนั้นก็นำนักธุรกิจในจังหวัดที่ประสบความสำเร็จ ลงไปช่วยดูแลกันเอง ระหว่างชาวบ้านและพ่อค้านักธุรกิจ ซึ่งหากสามารถทำอย่างนี้ได้จะเป็นประเทศที่น่าอยู่ ที่เป็นฝันของคนทุกคน
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว จะเริ่มจัดกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ 1.คนในส่วนกลางที่รับผิดชอบจังหวัดนั้นที่มีหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ 2.หอการค้าจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3.คนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร เรื่องต่างๆ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ การปลูกข้าวด้วยวิถีชีวิตใหม่ๆ มาให้คำแนะนำ 4.กลุ่มชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัคร เข้ามาทำ พร้อมเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่
“หากสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้แล้ว เชื่อว่าจะช่วยลดความแตกแยกของคนในสังคมได้ด้วย เพราะเมื่อทุกภาคส่วนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วม จากเดิมภาคธุรกิจ เอกชนก็ไม่เคยสนใจเรื่องของเกษตรกรและชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้านและเกษตรกรเองก็ไม่เคยสนใจพวกนักธุรกิจ ดังนั้น หากเกิดการผสมผสานเกิดขึ้นสังคมก็จะดีขึ้น เพราะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลายเป็นเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ลดความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยก วันนี้อาจจะมี 50 หลังคาเรือน อนาคตอาจจะเป็น 200 หลังคาเรือนก็ได้”
นายดุสิต กล่าวถึงการต่อยอดโครงการ ไปที่อุบลราชธานี สุรินทร์ สกลนคร และในอีกหลายๆจังหวัด จะทำจนเกิดเป็นตำราขึ้นมาว่า หากต้องการที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรจาก 1 ไร่ 5 พันบาท ไปเป็น 1 ไร่ 1 แสนบาท มีวิธีการทำอย่างไร ใช้วิถีชีวิตอย่างไร หรือว่าจังหวัดใดสนใจอาจจะใช้มหาวิทยาลัยในจังหวัด หรือเข้าไปเสนอกับบริษัทต่างๆ ซึ่งว่า หากบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องเข้ามาดูแลหมู่บ้าน เป็นต้น
“ขณะนี้อาจเป็น 1 หมู่บ้าน 1 กรรมการ ต่อไปก็จะเป็น 1 หมู่บ้าน 1 บริษัท ช่วยกันอย่างผสมผสาน ประเทศไทยจะได้ความคิดใหม่ที่ว่า ทะเลาะกันไปทำไม ควรหันมาพึ่งพากัน และแม้ในอนาคตความเหลื่อมล้ำที่มีอาจจะยังไม่หมดไป แต่เชื่อว่า จะลดน้อยลง ในที่สุดความแตกแยกที่เคยมีก็จะหายไป”