ส่องไฟ “สุขภาพชาวบ้านชายแดนใต้” ช่องว่างที่รอเติม
แม้ว่าจะปรากฏเป็นข่าวบนสื่อน้อยลง แต่สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมิเคยเบาบางลง ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งทางกายภาพและจิตใจของผู้คนในพื้นที่ โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนขอสะท้อนวิกฤติปัญหาสุขภาพชาวบ้านชายแดนใต้ท่ามกลางไฟสงคราม
จาก“ความเดือดดาลในพื้นที่” สู่ “การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ขมวดปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เข้าใจอย่างง่ายว่า ทุกปัญหามีจุดตั้งต้นจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งทอดระยะเวลามานานกว่า 6 ปี เป็นเหตุให้ปัญหาถูกขยายออกไปในหลายมิติอย่างเชื่อมโยงกัน
อาทิ การขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรรม แม้ภาครัฐจะกำหนดจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยพิเศษให้มากกว่าพื้นที่อื่น แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือแพทย์จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ได้ไม่เกิน 1 ปีก็ต้องย้ายออก สาเหตุหลักคือความเครียด ภาระงานหนัก และความปลอดภัย แพทย์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจึงล้วนแต่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นี้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามสภาพความขาดแคลนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นับว่าไม่ได้รุนแรงไปกว่าพื้นที่ชายแดนอื่น
“ข้อมูลปี 2548 หลังเกิดเหตุปล้นปืนใหญ่เมื่อปี 2547 พบว่า 95% ของเจ้าหน้าที่อนามัยเป็นคนในพื้นที่ ระบบสาธารณสุขพื้นฐานจึงยังเดินต่อไปได้ในระดับหนึ่ง”
นพ.สุภัทร ฉายภาพบุคลากรการแพทย์ระดับชุมชน และขยายความว่า การให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.บนสถานพยาบาล ซึ่งประชาชนจะเดินทางมารับบริการเอง 2.การให้บริการออกสู่ชุมชนหรือการลงพื้นที่ ซึ่งยังมีปัญหาจากเหตุรุนแรงในพื้นที่
เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอย่อมกระทบต่อการให้บริการประชาชน ปัญหาที่ตามมาคือ ประชาชนเข้าไม่ถึงการบริการ โดยเฉพาะการควบคุมโรคระบาด ดัชนีที่อธิบายวิกฤตการณ์ได้อย่างชัดเจนคือ “โรคคอตีบ” ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เด็กด้วยการให้วัคซีน และทั่วประเทศไม่พบการแพร่ระบาดมาอย่างยาวนาน ทว่ากลับพบโรคดังกล่าวแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
“ปัญหาความไม่สงบทำให้แพทย์ให้บริการอย่างลำบาก บางพื้นที่ที่เป็นสีแดงแพทย์ไม่สามารถเข้าไปให้วัคซีนได้เลย ความหวังจึงฝากไว้ที่คนในพื้นที่คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่อสม.ก็มีขีดจำกัดทางความรู้ความสามารถ ไม่ได้เชี่ยวชาญเหมือนแพทย์” คุณหมอสุภัทร อธิบาย
“นิติแพทย์” สู่ “สาธารณสุขเพื่อความเป็นธรรม”
คุณหมอนักพัฒนา บอกว่า “สาธารณสุขเพื่อความเป็นธรรม” เป็นแนวทางที่จะช่วยปลดล็อคความรุนแรงละความเคลือบแคลงใจระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐลงได้ แต่ปัญหาคือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่มี “นิติแพทย์” ทั้งๆที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้าใจ กล่าวคือเมื่อมี “การตายผิดธรรมชาติที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน” โดยเฉพาะความสูญเสียภายในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ต้องทำคือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อลดความคลาดเคลื่อนของเหตุการณ์
“ตามปกติเมื่อมีการตายที่ผิดปกติ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งศพไปยังโรงพยาบาลอำเภอเพื่อชัญสูตรพลิกศพ ในชั้นนี้ก็จะทราบเพียงข้อมูลบาดแผล เช่น เสียชีวิตจากการถูกยิง มีกระสุนฝังในกี่นัด แต่จะไม่มีใครอธิบายได้ใครคือผู้ยิง”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาชายแดน กล่าวต่อว่าหากมีนิติแพทย์ที่สามารถชัณสูตรพลิกศพด้วยการผ่าศพได้ จะบอกได้ถึงลักษณะการยิง อาวุธที่ใช้ยิง รวมถึงวิธีการก่อการว่าเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐหรือขบวนการก่อความไม่สงบ
“ใกล้สุดที่มีนิติแพทย์คือโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ถามว่าจะเคลื่อนย้ายศพมาผ่าพิสูจน์ทันหรือไม่ เพราะการเสียชีวิตของพี่น้องมุสลิมจะต้องประกอบพิธีทางศาสนาและฝังภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น ตรงนี้คือข้อจำกัด และถ้าเราไม่มีแพทย์ที่จะอธิบายต่อสังคมได้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงต่อเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
ผอ.สุภัทร ระบุว่าเบื้องต้นรัฐจึงต้องเร่งจัดทำนโยบายด้านกำลังพลให้ชัดเจน วางระบบการทำงานการส่งต่อในพื้นที่ ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
ผลิตพยาบาลวิชาชีพ “ป้อนชายแดนใต้”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะ “พยาบาลวิชาชีพ” ได้รับการแก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ 24 เม.ย.50 อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ดำเนินโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหลังจากที่เกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3,000 คน เข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 4 ปีในวิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทั่งวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ได้ส่งมอบพยาบาลที่ผ่านการศึกษาตาม “โครงการบัณฑิตคืนถิ่น เพื่อสร้างสุขภาพและสร้างสันติสุขชาวใต้”
ดร.สาลิกา เมธนาวิน ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันยพระบรมราชชนก เล่าว่าความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้เป็นเหตุให้พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่ขอย้ายออก เพราะนอกจากปลอดภัยแล้วยังพบว่าผู้ปฏิบัติงานมีภาวะเครียด ล้า กดดัน โดยเฉลี่ยมีผู้ขอย้ายปีละ 20% แต่ทาง สธ.ยับยั้งไว้ เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ
โครงการผลิตพยาบาลเพิ่ม เป็นแนวคิดในยุค นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข นำนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3,000 คน มาศึกษาหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพ เบื้องต้นมีการสอบวัดความรู้ 50% แต่มีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียง 100 คน จึงต้องแบ่งเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษาใหม่คือ วัดความรู้ 50% คัดจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 30% และผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่สีแดง 20% โดยนำไปบรรจุใน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 1,000 คน ปัตตานี 960 คน ยะลา 600 คน สงขลา 280 คน และสตูล 160 คน
นักศึกษาเหล่านั้นถูกแยกไปศึกษาในสถาบันพระบรมราชชนกทั่วประเทศ แต่ด้วยพื้นเพและประสบการณ์ที่แตกต่างกับคนในพื้นที่ การศึกษาในช่วงแรกจึงเกิดปัญหาการต่อต้าน ดร.สาลิกา บอกว่า สองสัปดาห์แรกจำเป็นต้องจัดให้นักศึกษาปรับตัวอยู่ร่วมกับชาวไทยพุทธ มีผู้นำศาสนาเข้ามาดูแล เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ กลัวคนนอก ที่สำคัญมักจะถูกบั่นทอนกำลังใจ เช่น มาจากใต้เอาระเบิดมาด้วยหรือไม่ แต่พอประชาชนในพื้นที่เข้าใจก็ดูแลกันดี ชาวบ้านช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาด้วย
“ปัญหามีเรื่อยๆ เช่น ขึ้นปีสองต้องเช็ดตัวคนไข้ ซึ่งศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวผู้ชาย หรือการป้อนข้าวต้มหมู สวนปัสสาวะ ก็ต้องให้ผู้นำศาสนาเขามาอธิบายว่าทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ไม่ผิดหลัก”
ผู้ดูแลโครงการสะท้อนปัญหา และว่าต้องให้กำลังใจนักศึกษาที่เข้ามาศึกษา เพราะเขาต้องการกลับไปดูแลสุขภาพประชาชนในภูมิลำเนาจริงๆ อย่างไรก็ตามล่าสุดยังเหลือผู้ที่ไม่สำเร็จหลักสูตรบางส่วน คาดว่าภายในปี 2556 จะสำเร็จครบทุกคน
วิกฤตแม่และเด็กชายแดนใต้
อีกหนึ่งสภาพความเป็นจริงที่น่าตกใจ ข้อมูลจากร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2555-2557 ของ ศอ.บต.ระบุถึงปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพอนามัยแม่และเด็กที่พบแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
อัตราการเสียชีวิตของมารดาใน จ.ปัตตานี ปี 2546 เทียบกับปี 2549 คือ 26.0 เพิ่มเป็น 51 คน ต่อการเกิด 1 แสนประชากร ขณะที่ จ.ยะลา คือ 19.8 เพิ่มเป็น 49.2 คน ถือเป็นสถิติที่สูงกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในพื้นที่อื่นๆ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของทารกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2546 เทียบกับปี 2549 คือ 11.1 คน เพิ่มเป็น 11.7 คน ต่อการเกิด 1,000 คน
ข้อมูลระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาแม่และเด็กในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงกว่าที่ อื่น เพราะสถานการณ์ความรุนแรงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถลงพื้นที่ให้บริการได้ตามปกติ ส่งผลให้การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยทำได้น้อยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์สูงถึง 50% จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยด้านอื่นเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ยังระบุว่ากิจกรรมเชิงรุกด้านรักษาการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ลดลง 60% บุคลากรแพทย์ ทันตแพทย์ อยู่ในภาวะขาดแคลน 50% รวมทั้งสูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ และพบว่ามีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น
แพทย์ทหาร “อุดรูรั่ว” พื้นที่สีแดง
ด้านร้อยโท นพ.ธรรมสรณ์ เจษฎาเชษฐ์ นายแพทย์ประจำหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 22 ฉายภาพการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ทหารว่า ทหารในแต่ละหมวดจะมีแพทย์ทหารอยู่ แต่หากหมวดใดไม่มีก็จะมีนายสิบเสนารักษ์ซึ่งมีความรู้ด้านการรักษาโรคพื้นฐาน โดยภารกิจหลักของแพทย์ทหารและนายสิบเสนารักษ์คือการดูแลกำลังพลและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
นพ.ธรรมสรณ์ เล่าว่านโยบายการให้บริการสาธารณสุขแตกต่างออกไปตามสภาพความรุนแรงของพื้นที่ แต่โดยส่วนใหญ่ภารกิจกว่า 70% ของแพทย์ทหารคือการเข้าไปรักษาในพื้นที่สีแดงซึ่งแพทย์ปกติไม่กล้าเข้าไป ซึ่งหากย้อนกลับไปช่วง 5–6 ปีก่อน ประชาชนหรือชาวบ้านยังมีการต่อต้านที่รุนแรงด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ไว้วางใจทหาร แต่ปัจจุบันชาวบ้านต้อนรับและรู้สึกว่าหน่วยแพทย์ทหารเป็นมิตรกับชาวบ้าน
ร้อยโทหนุ่ม บอกอีกว่าการทำงานของแพทย์ทหารคือการรักษาและวางแนวทางป้องกันโรคตามสถานการณ์ อาทิ ฝนตกหนักก็ต้องเฝ้าระวังไข้เลือดออก ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เกิดกับประชาชนมากกว่ากำลังพล โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล แพทย์ทหารจำเป็นต้องลงพื้นที่วนเข้าไปตรวจตามโครงการแพทย์เคลื่อนที่เดือนละ 5 กองร้อย แบ่งเป็นกองร้อยละ 1 ครั้ง คือ 1 เดือนจะมีแพทย์ทั้งสิ้น 5 หน่วยให้บริการ
สุขภาพประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่เจ็บป่วยจากการทำงาน อาทิ ปวดเมื่อย โรคข้อต่างๆ แต่ที่น่าสังเกตคือยังพบปัญหาโรคผิวหนัง เชื้อรา หิด ผื่นคันจากสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสมมากกว่าปกติ โดยบางโรคที่พบนั้นในส่วนกลางหรือ กทม.ไม่มีแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังพบโรคเรื้อรังอื่นๆ อาทิ ความดัน เบาหวาน รวมถึงโรคทั่วไป เช่น อับเสบ ติดเชื้อ ฟันผุ
“ชาวบ้านจะเชื่อว่ายาทหารแรงกว่ายาหมอทั่วไป แต่พฤติกรรมหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือชาวบ้านยังไม่เห็นความสำคัญของสุขภาพเท่าที่ควร การสื่อสารทางความรู้ยังเข้าไปไม่ถึง เขาไม่สนใจที่จะออกมารับยาตามหน่วยบริการต่างๆ ในพื้นที่จึงขาดแคลนยา เมื่อเจ็บป่วยหากแพทย์ทหารไม่เข้าไปรักษา เขาก็จะปล่อยจนอาการหนักขึ้นอยู่อย่างนั้น”
คุณหมอธรรมสรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แพทย์ทหารคือผู้ที่เรียนหลักสูตรแพทย์เหมือนแพทย์ทั่วไป แต่ได้รับการฝึกฝนระเบียบวินัยตามรูปแบบทหารเพิ่มเติม ดังนั้นจึงมีความรู้ 2 ด้าน จากนั้นจะมีการวนมาประจำในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้รอบละ 1 ปี โดยผู้ที่ลงมาจะได้รับการอธิบายสถานการณ์ความปลอดภัย และการเอาตัวรอดในพื้นที่
…………………………………….
จากข้อเท็จจริงด้านสุขภาพของชาวบ้านชายแดนใต้ท่ามกลางสถานการณ์ไฟสงคราม ล้วนสะท้อนปัญหาที่ทับซ้อนในหลายมิติ แต่ชัดเจนที่สุดคือ “บุคลากรทางการแพทย์และภาวะความมั่นคงในชีวิต” หากภาครัฐไม่สามารถคลายปมนี้ไปได้ สาธารณสุขชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คงต้องวิกฤติต่อไป
----------------------------------------------------------------