บริหารแบบรวมศูนย์ มีต้นทุน นายกฯ ยอมรับสร้างภาระหนักให้ประเทศชาติ
นายกฯ อภิสิทธิ์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เดินหน้าสู่การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปประเทศไทย" เชื่อ การกระจายอำนาจ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาได้ตรงจุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีที่สุด
วันนี้ (18 ส.ค.) ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมและธรรมาภิบาลท้องถิ่น (CLIG) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 62 ปี เรื่อง "การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปประเทศไทย" ณ อาคาร มหิดลธิเบศร มีศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดการประชุม
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เดินหน้าสู่การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปประเทศไทย" ว่า เรื่องการกระจายอำนาจ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สำคัญต่อกระบวนการปฏิรูปและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเชื่อว่าการพัฒนาที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีที่สุด แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดนั้น ต้องดำเนินการโดยคนที่ใกล้ชิดกับประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วมในตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้เอง ซึ่งหากท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ น่าจะทำให้ปัญหาต่างๆ สามารถคลี่คลายลงได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึง การคงระบบการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ ว่า การรวมศูนย์อำนาจหลายครั้งทำให้สูญเสียโอกาส มีต้นทุน สร้างปัญหาระดับประเทศ เพราะปัญหาประชาชนถูกละเลย แก้ไขไม่ทัน จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ผ่านการชุมนุมเรียกร้อง ฉะนั้น กระบวนการปฏิรูปต้องให้ความสำคัญกับวิธีการการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ชุมชนแก้ไขปัญหาได้เอง
“ย้อนไป 10 ปี การกระจายอำนาจของเรามีทั้งส่วนก้าวหน้าและส่วนที่ยังเป็นปัญหา วันนี้เราต้องค้นพบจุดที่เป็นปัญหาข้อจำกัดให้ชัดเจนและมีแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้นำไปสู่กระบวนการกระจายอำนาจ ตามเป้าหมายที่เราต้องการ”
สำหรับเรื่อง การถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ถ่ายโอนภารกิจด้านการจัดบริหารสาธารณะจากหน่วยงานส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แผนการถ่ายโอนกำหนดไว้ 324 ภารกิจ แต่สามารถถ่ายโอนได้ต่ำกว่าร้อยละ 75 เรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานส่วนกลางไม่ยอมถ่ายโอน หรือ อปท.ไม่ยินดีจะรับโอน ขณะที่บุคลกรก็ไม่ประสงค์เปลี่ยนสถานภาพ
“ขณะนี้รัฐบาลกำลังตรากฎหมายให้ท้องถิ่น เรื่องโครงสร้างคณะกรรมการกระจายอำนาจ จะดึงบุคลกรทางด้านสังคมเข้ามาร่วม ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวข้องกับการบริหารงาน ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญทำให้การถ่ายโอนภารกิจทำได้มากขึ้น”
ส่วนการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันระหว่าท้องถิ่นกับส่วนกลางนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะให้หน่วยงานส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงไปสักระยะหนึ่ง ขณะที่ปัญหาด้านการเงินการคลัง ที่รายได้ส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันการออกกฎหมายภาษีทรัพย์สินและที่ดิน โดยหวังว่า ภาษีนี้จะเป็นรายได้หลักของท้องถิ่นต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารของ อปท. โดยยอมรับอปท. จำนวนมากการทำงานไม่สอดคล้องกับหลักคิดการกระจายอำนาจ แต่เป็นการจำลองการเมืองระดับชาติลงสู่ท้องถิ่นเท่านั้น ขณะที่การบริหารจัดการของอปท.จำนวนไม่น้อยยังก้าวไม่พ้นปัญหาการขาดธรรมาภิบาล เกิดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น แม้จะมีหน่วยงานการกำกับดูแล มีกรอบป้องกัน แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจนสร้างความสับสนให้กับอปท.อยู่มาก ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานตรวจสอบก็ควรจะทบทวนมาตรการกำกับดูแล อปท.ให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญให้การตรวจสอบเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย