“เครือข่ายชนพื้นเมือง” ยื่นข้อเสนอปฏิรูปประเทศถึงรัฐบาลผ่าน “หมอประเวศ”
หลายชนเผ่าพื้นเมืองไทยผนึกกำลังฉวยจังหวะปฏิรูปประเทศ ยื่นข้อเสนอรัฐบาลผ่านประธาน คสป. เรียกร้องสิทธิพื้นฐานทางสังคม-ให้รัฐหนุนตั้งสภาชนเผ่า-เด็กเกิดในแผ่นดิน ต้องได้สัญชาติ-คืนสิทธิจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าให้ชุมชน-เลิกโครงการกระทบ วิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ( 9 ส.ค.) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.) นำโดย นายจอนิ โอ่โดเชา ทำจดหมายยื่นข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยต่อรัฐบาลผ่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย(คสป.) และสำเนาถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ระบุว่าตามที่ คชท.ประกอบด้วยชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ขมุ คะฉิ่น ม้ง เมี่ยน ลัวะ ลีซู ลาหู่ อาข่า ดาราอาง มฺบีซู มลาบรี ไทเขิน ไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ไทใหญ่ ไตหย่า ไททรงดำ ภูไท โส้ ชอง ไทลาวครั่ง ญัฮกุร มอญ มอแกลน มอแกน อุรักลาโว้ย และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนสากล องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดงาน“วาทกรรม อัตลักษณ์ และสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก 7-9 ส.ค.2553 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยเข้าใจสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้น เมือง รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการบริการจากรัฐ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และนำเสนอองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตภูมิปัญญาแต่ละชาติพันธุ์
ข้อเสนอปฏิรูป ได้แก่ 1.รัฐบาลไทยต้องสร้างมาตรการและกลไกคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ ตามกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาที่ลงนามให้สัตยาบันกับองค์การสหประชาชาติ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ว่าด้วยสิทธิเด็ก ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เร่งรัดให้มีการศึกษาเพื่อลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 169 ว่าด้วยปวงชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเอกราช โดยไทยต้องยกเลิกข้อสงวนที่ลงนามในอนุสัญญาทุกฉบับ โดยเฉพาะข้อสงวนที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก
2.เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองไทย และองค์การสหประชาชาติที่ประกาศให้ปี พ.ศ.2548-2557 เป็นทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลกระยะที่สอง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ซึ่งตรงกับวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก และ เรียกร้องให้จัดตั้ง “สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย” รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณ
3.ต้องสร้างมาตรการให้มีการยอมรับและเคารพวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่ม ชาติพันธุ์ ขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ 4.เร่งคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ดังนี้ 4.1 ให้เด็กทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน 4.2 ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ ให้มีส่วนร่วมทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมเสมอหน้า 4.3 รัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาของชนเผ่าพื้นเมือง โดยไม่จำกัดเพศและวัย จัดทำนโยบายภาษาท้องถิ่น สนับสนุนการใช้ภาษาแม่และภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรม
4.4 ต้องคืนสิทธิการจัดการทรัพยากรให้ชนเผ่าพื้นเมือง ยกเลิกโครงการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้น เมือง 4.5 มีมาตรการและกลไกให้ชุมชนมีสิทธิและอำนาจในการร่วมจัดการทรัพยากรสิ่งแวด ล้อม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงมีมาตรการทางนโยบายและกฎหมายรองรับในการบัญญัติระเบียบสิทธิชุมชนท้อง ถิ่นอย่างแท้จริง 4.6 ต้องทบทวนนโยบายการท่องเที่ยวที่ละเมิดต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชนเผ่าพื้นเมือง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม ของตน
4.7 มีมาตรการให้ชนเผ่าพื้นเมืองทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการรัฐ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ 4.8 คุ้มครองสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง และแรงงานข้ามชาติในประเทศ ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากล 4.9 คุ้มครองพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรมชนเผ่า เร่งสร้างมาตรการคุ้มครองความมั่นคงในทรัพยากรดินน้ำป่า รับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงให้มั่นคง ยั่งยืน ทั้งนี้มีรายละเอียดเอกสารตามสิ่งที่ส่งมาด้วยแล้ว .