กก.ปฏิรูป ปท.ชี้ต้องผลักดันทั้ง กม.สวัสดิการชาวนา และกองทุนการออม
ดร.เพิ่มศักดิ์ 1 ใน คกก.ปฏิรูป ชี้จำเป็นต้องมีทั้งกองทุนสวัสดิการชาวนาและกองทุนการออมแห่งชาติ ส่วนแก้หนี้นอกระบบไม่ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน-วิธีลงทะเบียนช่วยได้ไม่ครอบคลุม เห็นด้วยกับภาค ปชช. รวม 14 กองทุนบูรณาการหนี้-จัดเงินกู้พิเศษร้อยละ 25 พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์การปฏิรูป ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์กับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงร่าง พ.ร.บ. กองทุนสวัสดิการชาวนาที่ยังไม่มีความคืบหน้าและก่อนหน้ามีข่าวว่าซ้ำซ้อนกับร่าง พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติของกระทรวงการคลังซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ว่า ทั้ง 2 กองทุนมีความสำคัญ ไม่ควรแยกหรือตัดอันใดอันหนึ่งออก เพราะกลุ่มชาวนาเป็นกลุ่มที่ต้องการสวัสดิการมากกว่าการออม ขณะเดียวกันก็ต้องมีทุนฟื้นฟูที่ไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือกรณีชราภาพหรือประกอบอาชีพไม่ได้
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า อาชีพชาวนากำลังล่มสลาย เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่มีอายุมากและไม่มีสวัสดิการรองรับ กองทุนสวัสดิการชาวนาจึงจำเป็น เพราะช่วยฟื้นฟูโอกาสและทำให้คนกลุ่มนี้อยู่ได้ ส่วนกองทุนการออมแม้จะไม่ใช่คำตอบที่แน่ชัดว่าสร้างสังคมสวัสดิการได้ แต่อย่างน้อยก็นำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะปัญหาหลักของเกษตรกรที่ผ่านคือต้นทุนสูง เพราะไม่ได้ออมเงินไว้ใช้จ่าย แต่ใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงินมาใช้ ดังนั้นต้องหนุนทั้ง 2 กองทุนซึ่งมีจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่ระวังอย่าให้ขัดกันเอง
ส่วนนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลหรือการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เป็นกลไกเดียวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คือตัดดอกหมดตัดต้นเหลือครึ่ง ซึ่งต้องศึกษาให้ดี เพราะถึงแม้จะมีประโยชน์ แต่ต้องคำนึงเงื่อนไขลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เช่น ลูกหนี้บางรายจ่ายเงินต้นและดอกไปหลายเท่าตัว กลุ่มนี้อาจตัดศูนย์ได้ แต่บางรายที่ยังไม่เคยจ่ายเลยอาจต้องจ่ายมากกว่าครึ่งหรือเกินครึ่ง จะใช้มาตรฐานอัตราเดียวกันไม่ได้ นอกจากนี้วิธีการเปิดให้ลงทะเบียน จะช่วยได้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมคนจนจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ
“นโยบายของรัฐดีแล้ว แต่เริ่มแล้วต้องมีการปรับ ตอนนี้อาจจัดการได้ประมาณ 5 แสนรายซึ่งเป็นเพียงร้อยละ 10 ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด สิ่งที่ต้องคิดคือจะมีวิธีการจัดการต่อไปอย่างไร โดยการทบทวนเป็นระยะๆ และปรับให้เข้ากับปัญหา”
สำหรับการให้กองทุนฟื้นฟูฯ ลงไปดูปัญหาการชำระหนี้ รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ ดร.เพิ่มศักดิ์ มองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรที่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ควรรวมหน่วยงานต่างๆที่ต่างคนต่างทำเรื่องหนี้นอกระบบมาบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอภาคประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้รวม 14 กองทุนที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการร่วมกัน และจัดสรรเงินกู้พิเศษส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนร้อยละ 25 ของวงเงินกู้ในแต่ละปี และปฏิรูป ธ.ก.ส.เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมคุณภาพคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดย ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี 14 กองทุน งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่ถึงมือเกษตรกรที่เดือดร้อน เพราะกองทุนเหล่านี้ติดขัดเรื่องระเบียบ กฎหมาย วิธีการจัดการที่ไม่คล่องตัว การบูรณาการทุกกองเข้าด้วยกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์จะช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุด
สำหรับกรอบเงินกู้พิเศษเป็นข้อเสนอที่ดีในแง่การนำมาใช้ปรับปรุงฟื้นฟูการลงทุนระยะยาวในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน และร้อยละ 25 ก็มีความเหมาะสม แต่บางรายอาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ตามบริบท และเห็นด้วยที่จะปฏิรูป ธ.ก.ส. เพราะเป็นสถาบันการเงินที่เกษตรกรให้ความเชื่อมั่น ดังนั้นเมื่อเกิดความเสี่ยงก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับเกษตรกรด้วย
ดร.เพิ่มศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า รัฐต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ถึงมือประชาชนไม่ใช่เดินตามกลไกหนึ่งสองสามสี่ เพราะกว่าจะถึงปลายทางชาวบ้านตายหมดแล้ว อย่างเรื่องหนี้สินต้องลงไปคุยกับชาวบ้าน สร้างทีมที่ทำจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ไม่ใช่ทำแต่แผนระดับชาติ การทำให้ชาวบ้านไม่กลับไปพึ่งหนี้นอกระบบต้องสร้างกลุ่มองค์กรเครือข่ายของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถจัดการผลิต จัดการการทุนและพัฒนาองค์กรการเงินได้เองไปพร้อมกันทั้ง 3 องค์ประกอบ .