หมอนิรันดร์ ชี้บางมาตราในระเบียบโฉนดชุมชน” มีตำหนิ
เปิด “ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน” มีตำหนิ ติงประเด็นการให้อำนาจคณะกรรมการบางข้อไม่เหมาะสม จี้รัฐบาลทบทวนใหม่
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตส.ว.อุบลราชธานี ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องปัญหาที่ดินมานาน เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนภายหลังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศใช้ 4 เครื่องมือแก้ปัญหาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เห็นด้วยกับแนวทางเครื่องมือทั้ง 4 ที่ถูกประกาศออกมา เชื่อว่าทั้งหมดที่ประกาศออกมานั้นดำเนินการได้รวดเร็ว ก็สามารถทำได้ ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจริง ขณะเดียวกันเครื่องมือที่ถูกเสนอออกมานั้นเป็นมาตรการแก้ปัญหาที่ดินในระยะยาวและเป็นแนวทางแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง
ประเด็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เรื่องด่วนที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการมี 2 เรื่อง คือ เรื่องโฉนดชุมชนกับเรื่องการฟ้องร้องคดีที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ป่า ที่สาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้ เป็นเรื่องด่วนที่รัฐต้องหยุดการฟ้องร้องชั่วคราวก่อน แต่ไม่ได้หมายถึงการยกเลิกฟ้องร้องคดี หากรัฐบาลควรเร่งทำเรื่องการพิสูจน์สิทธิเพื่อสร้างความเป็นธรรมก่อน เพื่อพิสูจน์สิทธิตามความเป็นจริงที่แท้จริงก่อน ให้ชาวบ้านมีโอกาสในการพิสูจน์และเกิดความเป็นธรรม ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขโดยเร็ว เฉพาะหน้า และทันที
“อยากให้รัฐบาลทบทวนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชนที่ยังคงมีบางมาตราที่ยังแก้ปัญหาที่ดินชาวบ้านไม่ได้จริง เช่น การให้อำนาจของรัฐในการอนุมัติในบางเรื่องที่ไม่เหมาะสม”นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่จะมีการนำร่องเรื่องโฉนดชุมชนใน 30 พื้นที่ ในจ.เชียงใหม่ จ.พูนนั้น การดำเนินการดังกล่าวอยากให้นายกรัฐมนตรีลงรายการในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ให้ได้ด้วย เพราะการแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นปัญหาจริง เรื่องนี้หากรัฐบาลจริงใจจะแก้ไขเชื่อว่าภายใน 6 เดือนก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 นั้น ในเรื่องการให้อำนาจของคณะกรรมการคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) ถูกระบุไว้ในข้อ 7 ซึ่งระบุว่าให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 1) เสนอนโยบาย แผนงาน และงบประมาณในการดำ เนินงานโฉนดชุมชนต่อคณะรัฐมนตรี 2) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบนี้ 3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีความพร้อมในการดำเนินงานโฉนดชุมชนรวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
4) ตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของชุมชนที่อาจได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานโฉนดชุมชน ตลอดจนติดตามการดำเนินงานโฉนดชุมชน ในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 5) ประสานงานและติดตามหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามนโยบายและแผนงานของงานโฉนดชุมชน 6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานให้ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และ 7) ดำเนินการหรือปฏิบัติงานอื่นใดที่เกี่ยวกับโฉนดชุมชนให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎคำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง