เล็งเสนอ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าสภาฯ ส.ค.นี้
รมว.เกษตรฯ คาดประกาศใช้ได้ไม่เกินสิ้นปี 2553 ระดมเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ คลี่ข้อกฎหมายสู่การปฏิบัติ เตรียมรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรชุดแรก ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์เกษตรกร
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดเตรียมการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ วันนี้ (23 มิ.ย.) ถึงการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติว่า มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในสมัยประชุมสามัญที่จะเปิดในวันที่ 4 สิงหาคม 2553 หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบตามร่างที่วุฒิสภาพิจารณา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไทย และนำลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
“คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ไม่เกินสิ้นปี 2553 อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวออกใช้บังคับจะส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มอาชีพสำคัญของประเทศได้มีสภาเพื่อรักษา-สร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มของตนเหมือนกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ฯลฯ”
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติฯ จะให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิตและการตลาด เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมถึงมีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพก่อให้เกิดความเข้มแข็งจากการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถจัดทำแผนแม่บทเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมมีความสอดคล้องตามแผนแม่บท สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาจากแนวความคิดจากฝ่ายบริหารเพียงส่วนเดียว
นายธีระ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะต้องดำเนินการตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 ปี โดยปฏิบัติตามรายละเอียดที่ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่เลขาธิการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และให้เกษตรกรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด มีระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งให้ดำเนินการเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร/องค์กรเกษตรกร ภารกิจที่สำคัญ คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกร 76 จังหวัด ซึ่งจะเป็นที่มาของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดแรก อันเป็นองค์ประกอบให้เกิดสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้น เพื่อเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรไทยต่อไป
“สภาเกษตรกรจะเป็นเวทีให้เกษตรกรทั่วประเทศมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมต่างๆ เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก ราคา ปัญหาหนี้สิน การพัฒนาด้านต่างๆ ผ่านสภาเกษตรกรจังหวัดเพื่อส่งต่อมายังสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องรับหน้าที่ดำเนินการนั้น ที่ผ่านมาได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประชุมเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานในสังกัด เพื่อร่วมกันวางแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงาน และจัดทำแผนปฏิบัติการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนำข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนมาแจกแจงรายละเอียดสู่การปฏิบัติให้มีความชัดเจนมากที่สุด รวมถึงได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ทุกระดับให้ปฏิบัติงานในกระบวนการดังกล่าวด้วยความโปร่งใส สามารถตอบคำถามสังคมได้ในทุกขั้นตอน และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดตกหล่น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรให้สมกับที่รอคอยการเกิดขึ้นของสภาดังกล่าวมานานกว่าสิบปี” นายธีระ กล่าว