นวัตกรรมใหม่ในภาวะโลกเดือด อะไรที่เกษตรไทยต้องตั้งรับ
กระแสโลกร้อนสร้างแรงกระเพื่อมสะเทือนทุกวงการ เป็นประเด็นที่ทุกวงสนทนาต่างต้องกล่าวถึง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม แหล่งความมั่นคงทางอาหาร และในฐานะ “ครัวของโลก” จะต้องตั้งรับอย่างหนักหน่วง และเรียนรู้กับนวัตกรรมแปลกใหม่ที่จะเป็นทางรอดของอนาคต
ข้าวโลกอนาคตต้องทนแล้ง ทนโรค ทนน้ำท่วม
ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า “โลกร้อน กระทบอะไรบ้าง”
ในฐานะนักวิชาการด้านข้าวอธิบายโดยมุ่งเป้าไปที่พืชอาหารหลักของคนไทยว่า โลกร้อนมีผลทำให้ข้าวบางชนิดสูญพันธุ์แน่นอน และวิกฤติน้ำแข็งขั้วโลกละลายก็จะส่งผลน้ำทะเลสูง อากาศเปลี่ยนแปลงกระทบต่อการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงข้าวติดเมล็ด เกิดน้ำท่วม-แห้งแล้งฉับพลัน โรคแมลงระบาด
และสุดท้ายหากเป็นไปตามที่นักวิทยาศาสตร์ฟากซีกโลกตะวันตกคาดการณ์ พื้นที่ทำนาบริเวณชายฝั่ง เช่น จ.ฉะเชิงเทรา จะกลืนหายไปกับมหาสมุทร ขณะที่พื้นที่นาที่ใช้น้ำฝนลดหดหายไปกว่าร้อยละ 30 การผลิตลดลงทันทีร้อยละ 70
คำถามต่อไปคือ “เราจะแก้ด้วยตัวเงินหรือปรับเปลี่ยนวิธีปลูกด้วยนวัตกรรมใหม่”
“สิ่งที่ห่วงคือเราเป็นผู้นำในตลาดโลกและเกรงว่าจะทานสภาวการณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เพราะที่ปลูกตอนนี้มีไม่กี่พันธุ์ แถมไม่ต้านโรคแมลง ปลูกได้ปีละครั้ง พลาดเท่ากับพลาดเลย ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญ แม้ทำได้ยาก แต่ต้องทำ”ดร.อภิชาติ บอกและอ้างอิงงานวิจัยที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวทำให้เห็นภาพ
นวัตกรรมพันธุ์ข้าวในภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือที่ทีมวิจัยจำกัดความสั้นๆ ว่า “ข้าวในโลกอนาคต” ต้องมีลักษณะเป็นข้าวทนแมลง ทนน้ำท่วม และทนแล้ง โดยในส่วนของข้าวทนแมลง ปัจจุบันมีเพียงพันธุ์ที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปานกลางเท่านั้น ขณะที่ต่อไปแมลงศัตรูข้าวจะระบาดรุนแรง ทั้งเพลี้ยกระโดดหลังขาว จักจั่นสีเขียว เพลี้ยแป้ง ซ้ำยังทนต่อยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น
ส่วนข้าวทนแล้งและทนน้ำท่วม เป็นสิ่งที่ไทยยังขาดอยู่ เบื้องต้นทีมวิจัยมีความพยายามอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลว่าสภาวะโลกร้อนมีผลต่อการผสมเกสร เพราะเมื่อใดที่อุณหภูมิสูงข้าวจะไม่ติดเมล็ด และที่หนักหนาไปกว่านั้นคือท้องไร่ท้องนาบ้านเราปลูกแบบรอฝน นาชลประทานมีเพียงน้อยนิด
ดร.อภิชาติ เล่าว่า โครงการที่ทำอยู่คือการพัฒนาให้ข้าวผสมเกสรได้เร็วและแข็งแรงที่อุณหภูมิ 38-40 องศา คาดว่าในปี 2558 จะสำเร็จ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่นับเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นข้าวในโลกอนาคตจะต้องพร้อมรับมือกับภาวะน้ำเค็มที่จะท่วมขัง โดยเฉพาะที่ลุ่มภาคกลางและชายฝั่ง โดยข้าวจะต้องทนเค็มได้ประมาณ 600-700 mM ซึ่ง ณ ปัจจุบันความสามารถในการทนเค็มที่ดีที่สุดของข้าวอยู่ที่ 150 mM
ข้างต้นล้วนเป็นสิ่งที่นักวิจัยเห็นและกังวล ซึ่งคงไม่ต่างไปจากตัวเกษตรกรผู้ปฏิบัติเท่าใดนัก หากจะต่างคงเป็นแง่รายละเอียดของข้อมูล แต่ต้องยอมรับว่า งานวิจัยส่วนใหญ่เมื่อเสร็จเป็นชิ้นเป็นอันออกมา เกษตรกรบางคนแทบไม่ได้เห็น หรือเห็นก็ไม่นำไปใช้
“เราจึงเห็นว่าพอน้ำท่วม น้ำแล้ง แมลงระบาดครั้งใด ผลลัพธ์สุดท้ายจึงจบที่ความเสียหาย และไม่ใช่แค่เพียงเล็กน้อย เพราะข้าวมีคุณสมบัติเด่นชัดโตพร้อมกัน ไปพร้อมกันหมด” ดร.อภิชาติ ทิ้งท้าย
ชีวินทรีย์วิถีต้านรับโลกแมลง
สอดรับกับภาวการณ์โรคแมลงที่นักวิจัยข้าวกล่าวไว้ รศ.โกศล เจริญสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทร์ทรีย์แห่งชาติ บอกว่า การระบาดของแมลงจะเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในอนาคตแน่นอน ยกตัวอย่างจากกรณีที่ทำให้วงการมะพร้าวสะเทือนเมื่อช่วงกลางปีก่อน ที่ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวสวนมะพร้าวถึงขั้นน้ำตาตก พื้นที่เพาะปลูกล้านเลี่ยงเตียนโล่ง กลายเป็นมะพร้าวหัวโกร๋น ภายในไม่กี่สัปดาห์
โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากภัยแล้ง แมลงระบาดสายพันธุ์ใหม่ ในชื่อ “หนอนหัวดำ” ที่จิกกินจากใบอ่อน เมื่อไม่มีใบเขียว มะพร้าวก็ตายสนิท ตายไปพร้อมกับผลผลิตและเม็ดเงินที่ “เกษตรกร” ควรได้
รศ.โกศล เล่าว่า ทีมวิจัยลงไปศึกษาในพื้นที่และพบว่าเกษตรกรใช้วิธีกำจัดด้วยยาฆ่าแมลง แต่ไม่ได้ผลเพราะแมลงในกลุ่มนี้ดื้อเคมี และมีลักษณะเฉพาะ ช่วงปลายปีเรากลับไปอีกครั้ง พร้อมขยายพันธุ์แมลงชนิดหนึ่งไปแก้ปัญหา
เป็นวิธีใช้สิ่งมีชีวิต “แมลงหางหนีบ” ไปจัดการสิ่งมีชีวิตอย่าง “หนอนหัวดำ” และผลที่ได้ก็พิสูจน์ว่า “ธรรมชาติคือผู้สร้างปัญหา แต่ก็สั่งสอนวิธีแก้ปัญหามาดีอยู่แล้ว”
นักวิจัยด้านแมลง แนะนำว่า นวัตกรรมที่เกษตรกรไทยควรหันมาให้ความสำคัญเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนที่เริ่มทวีความรุนแรง คือการเรียนรู้ที่จะปรับใช้วิธีจากธรรมชาติและเอาจริงเอาจังด้วย แต่เท่าที่ได้มีโอกาสสัมผัสวิถีเหล่านี้ยังเกิดขึ้นไม่มากนักในบ้านเรา
อย่างหนอน เบียน หลายชนิด เราเคยบอกผ่านชาวบ้านว่าเป็นระบบที่ผลิตได้ในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล และในฐานะฝ่ายวิชาการจะให้คำแนะนำด้านโรงเรือนให้ ผมรอจนถึงวันนี้ยังสร้างไม่เสร็จ คำถามคือแล้วจะทันหรือไม่กับโลกที่เปลี่ยนไปเช่นทุกวันนี้
เป็นเรื่องชวนคิด และอยากชวนให้เกษตรกรไทยทำด้วย...
นวัตกรรมของเสียเพิ่มผลผลิต
ตรงกับแนวคิด รศ.อุทัย คันโธ ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเห็นว่า บางครั้งเราก็ต้องลืมเรื่องเก่าๆ ที่เคยทำมาบ้าง แล้ววิเคราะห์กันใหม่ว่าจะเริ่มอย่างไร ทำอย่างไร นวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาแม้อาจจะดูผิดหลักผิดฝาผิดตัว แต่ถ้าสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นผลดี
รศ.อุทัย เล่าถึง นวัตกรรมการใช้ของเสียฟาร์มปศุสัตว์ในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการปลูกพืช และการผลิตพืชอินทรีย์อย่างน่าสนใจว่า จุดสตาร์ทจริงๆ เป็นช่วงที่มันสำปะหลังราคาดีเพราะความต้องการนำไปเป็นอาหารสัตว์ ขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทีมวิจัยจึงคิดหาทางเพิ่มผลิต หากจะใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์ต้องใช้เวลากว่า 5 ปี ก็ดูจะนานเกินไป
จึงวิเคราะห์หาจุดขาด พบว่า ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเติบโตของพืชมีไม่กี่อย่าง แสงแดด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และปุ๋ย เท่านั้น โดย 2 ปัจจัยแรกมีแล้วในธรรมชาติไม่ต้องจ่ายต้นทุนเพิ่ม แต่ 2 ปัจจัยหลัง ค่อนข้างเป็นปัญหาเพราะโดยทั่วไปเกษตรกรจะเห็นมันสำปะหลังเป็นพืชทนแล้ง ฝากเทวดาเลี้ยงได้ ไม่ต้องให้น้ำให้ปุ๋ย
“ความจริงพืชทุกชนิดต้องการน้ำและแร่ธาตุสำคัญ 13 ชนิด เดิมเราบอกว่าธาตุเหล่านี้มีแล้วในดิน แต่เราใช้ดินมาเป็นร้อยปีพืชดูดอาหารไปเท่าไร่ พิสูจน์แล้วว่าที่มีอยู่เดิมไม่พอ”รศ.อุทัย บอกและอธิบายว่า
เกิดเป็นหลักการเชื่อมโยงการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืช คิดง่ายๆ ถ้าดินจำเป็นต้องเพิ่มแร่ธาตุ มูลสัตว์นี่ล่ะแหล่งธาตุอาหารชั้นดี ไปช่วยฟื้นฟูเสมือนดินใหม่ เพราะในมูลสัตว์ทุกชนิดมีธาตุอาหารครบ 13 ชนิด ทั้งจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารสัตว์ยังเป็นปฏิปักษ์กับจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคพืช ส่วนน้ำเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำหยด โดยหลักคิดว่ามันเป็นพืชกินหัว หากจะเพิ่มหัวก็ต้องทำให้รากแข็งแรงก่อน
เมื่อดินดีน้ำดี เพราะมีแร่ธาตุก็ย่อมเป็นผลดีต่อการสังเคราะห์แสงเมื่อบวกกับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ พืชก็โตเร็วผลผลิตก็ดี เพียงรู้วิธีใช้…
ผอ.สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า แต่ใช่ว่าได้มูลสัตว์แล้วจบ เพราะหากใช้ไม่ถูกประสิทธิภาพย่อมไม่เกิดเช่นกัน อย่างมูลแห้งและน้ำเสียจากการล้างคอก เหมาะกับการเป็นปุ๋ยทางดิน และทำน้ำสกัดฉีดพ่นทางใบ ส่วนน้ำเสียที่ไหลจากบ่อไบโอแก๊ส เหมาะกับการรดทางดิน ส่วนกากตะกอนเหมาะกับผสมเพิ่มแร่ธาตุ
นวัตกรรมนี้นอกจากจะทำในส่วนมันสำปะหลัง ล่าสุดขยายมาที่พืชประเภทข้าว ใช้ได้ตั้งแต่กระบวนการหว่านไปถึงเก็บเกี่ยว เช่น แทนที่จะแช่เมล็ดในน้ำธรรมดาก็แช่ในน้ำสกัดอัตรา 1:20 ข้าวจะดูดซึม พอนำไปหว่านจะงอกเร็ว เมื่อนำฉีดพ่นในอัตราเจือจาง 1:10 ทุก 15 วัน มีผลทำให้ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลง
ส่วนน้ำเสียที่อยู่ในบ่อหมักสามารถสูบเข้าไร่อัตราไร่ละ 100 ลิตร เสริมเข้าไปในนา นาข้าวก็งาม เพราะมูลสุกรจะมีแพลงตอนสาหร่ายมาก เราเชื่อว่าตัวนี้นี่เองที่ให้ปุ๋ยในโตรเจนในอากาศ ทำให้ข้าวไม่ล้มง่ายและแข็งแรง
ผลพิสูจน์ทั้งหมดค่อยๆ ขยายไปยังพืชตระกูลอื่นๆ อย่างยางพาราทดลองกับเกษตรกรภาคใต้พบว่าเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ 80 เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมันและพืชผักอื่น
“วันนี้เกษตรกรจากเพชรบูรณ์มาถึงกำแพงแสนกำเงินมาซื้อขี้หมู เมื่อก่อนกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ตอนนี้กิโลละ 3 บาทกว่า แถมบอกว่าแปลกนะที่ตอนนี้ขี้หมูหาซื้อยากกว่าทองอีก” รศ.อุทัย สรุป
ก่อนจะชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมใหม่นอกจากนักวิจัยที่เป็นตัวเคลื่อน ความพร้อมของเกษตรกรในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องเปิดใจกว้างยอมรับด้วย แม้วันนี้สถานการณ์โลกวิบัติ ภาคเกษตรพังทลายจะยังไม่เกิดขึ้นจนมนุษย์ต้องรู้สึกขยับปรับเปลี่ยน แต่สัญญาณก็เริ่มดังถี่ให้เห็นอยู่บ้างแล้ว .