รุกสร้างพิมพ์เขียวปฏิรูปชีวิตเกษตรกร เรื่องเร่งด่วน ขจัดความเหลื่อมล้ำ
สปกช. วางเป้า 5 ปี ตั้งองค์กรอิสระ ขับเคลื่อนการทำงาน เล็งเก็บภาษีจากการนำเข้าปุ๋ยเคมี สินค้าส่งออกตั้งกองทุน สำหรับการพัฒนาเกษตรกร ด้านผอ.มูลนิธิชีววิถี แนะภาคธุรกิจมีหัวใจด้านชุมชน หันดูแลภาคเกษตรให้มากขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เวทีปฏิรูปประเทศไทยสุขภาวะคนไทยครั้งที่ 35 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี กรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม(สปกช.) และคณะ นำเสนอเรื่อง “การปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร”
ผศ.ดร.จิตติ กล่าวถึงฐานความคิดในการสร้างแผนปฏิรูประบบเกษตรกรว่า เกิดจากความไม่เป็นธรรมในสังคมเกี่ยวกับชีวิตเกษตรกร ที่มีอยู่ 16 ล้านคนในประเทศ และในปี 2551 สามารถผลิตส่งออก มากเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ประชากรกว่า 10.7 ล้านคน ขาดความมั่นคงทางอาหาร และมีคนที่บริโภคอาหารเกินความจำเป็นกว่า 10 ล้าน คน แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านเกษตรกรรมที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องของอาหาร อีกทั้งปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ไร้ที่ทำกิน และการมองตนเองว่า ต่ำต้อย ไม่มีศักดิ์ศรี และขาดความภาคภูมิใจในตนเอง
“แม้ว่าการเชื่อมโยงระหว่าง เกษตรกร ภาคการผลิต เทคโนโลยี จะช่วยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ความต้องการแท้จริงของเกษตรกร คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิต มีจิตวิญญาณ อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งหากมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการแล้วจะช่วยนำไปสู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนได้”
ผศ.จิตติ กล่าวถึงเป้าหมายการจัดทำแผน จะมีการขับเคลื่อนต่อไปภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยให้ได้ 3 องค์ประกอบ คือ 1.พิมพ์เขียวการพัฒนา 2.กลไก/องค์กรอิสระ เพื่อช่วยในการปฏิรูป ทำหน้าที่ได้ต่อเนื่อง ทำหน้าที่ขับเคลื่อน โดยการพัฒนาความรู้เพื่อการปฏิรูประบบ ประสานเครือข่าย ขับเคลื่อนสังคมและนโยบาย และ 3.การจัดตั้งกองทุน สำหรับการพัฒนาเกษตรกร โดยการเก็บภาษีจากการนำเข้าปุ๋ยเคมี หรือสินค้าส่งออก
“พิมพ์เขียวปฏิรูประบบฯ จะต้องมีระบบย่อยที่เชื่อมโยงกับชุมชน สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจากการที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ทำให้วัฒนธรรมของการปลูกพืช ขัดแย้งกัน ดังนั้น จะต้องเน้นช่วยจัดการให้เกษตรกรต้องอยู่ในการอยู่ร่วม เอกภาพ อธิปไตย จากวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละชุมชน หากไม่คำนึงการส่งเสริมก็จะไม่ประสบความสำเร็จ”
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การปฏิรูปชีวิตเกษตรกรให้สำเร็จต้องสานพลังสร้างพิมพ์เขียว และฐานพลังร่วมกันจากฐานที่เป็นความรู้ เครือข่าย ที่มีภารกิจหลากหลาย กลุ่มพันธมิตร ภาคผู้บริโภค วิชาการ มาร่วมสร้างนวัตกรรมเกษตรยั่งยืน โดยเริ่มยึดต้นแบบจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จที่มีจำนวนมาก เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่ทา ที่ทำการเกษตรโดยควบคุมการใช้สารเคมี หรือที่จังหวัดยโสธรและสุรินทร์ ดำเนินการค้าข้าวส่งออกกลุ่มประเทศในยุโรป หลังจากนั้นรวบรวมข้อมูลเกิดขึ้น เพื่อเกษตรกรรายอื่นที่สนใจ สามารถค้นหาได้ อีกทั้งเร่งประสานงานเครือข่าย ดึงสมาชิก ปราชญ์ชาวบ้านมาระดมความเห็นทำกระบวนการด้วย
“สังคมไทยไม่ได้มีเพียงเกษตรเท่านั้น ปัจจุบันมีความเป็นเมืองใหญ่ขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องดูแลเพิ่มเติม คือ องค์กรภาคอื่นๆ เช่น ลูกจ้าง กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ต้องสร้างรูปแบบผู้บริโภคต่างๆ ช่วยปฏิรูปด้วย รวมทั้งให้ภาคธุรกิจมาดูแล ภาคเกษตรมากขึ้น มีหัวใจด้านชุมชน ซึ่งหากทำให้ถึงจุดเปลี่ยนนี้ได้จะเป็นจุดผกผันของคุณภาพชีวิตประชากร สุดท้ายหากแผนนี้ได้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย เชื่อว่า จะสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นได้อย่างดี”
ขณะที่นางสาวทัศนีย์ วิระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า การใช้ชุดความรู้ จัดเวที รูปแบบสมัชชาการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจะเป็นตัวช่วยพัฒนาการดำเนินงาน เกิดการเชื่อมร้อย สร้างกลไกการปกป้องมาคุยกัน นอกจากนั้นการผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และ ยุทธศาสตร์อาหารของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ รวมถึงเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นเกิดเป็นสภาเกษตร ปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหาที่ดิน ดูแลคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จากกฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้น
ส่วนนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวถึงหนี้สินภาคเกษตรกรรมต่างกันกับภาคอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมไปครอบงำทำให้เกษตรกรไม่มีอำนาจการต่อรอง ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐเร่งสนับสนุนงบประมาณและนโยบายจะช่วยลดผลกระทบได้ โดยในเบื้องต้นสิ่งที่ภาคประชาชนสามารถขับเคลื่อนได้ก่อน คือ เกษตรอินทรีย์
“การจัดการที่จะช่วยได้ในการดูแลคุณภาพเกษตรกรจะสามารถเป็นไปได้ หากรัฐดูแลจัดการอย่างเต็มที่ และคอยสนับสนุนนโยบาย เพราะการสถาปนาองค์กรใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดขับเคลื่อนอย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยให้เกิดเป็นรูปธรรม เริ่มจากงบประมาณที่ต้องจัดการให้เพียงพอ ให้เป็นแผนฟื้นฟูชีวิตคนให้ฟื้นคืนมาได้ มากกว่าการเยียวยาเฉพาะเพียงเรื่องเศรษฐกิจ ดูแลจัดสรรที่ดินทำกินให้ไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะมุ่งไปเรื่องปฏิรูปสินเชื่อเกษตรกร ให้ทุกอย่างเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องจัดการ”
สำหรับดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์พิเศษศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เกษตรกรไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 10 % แรก ที่เป็นต้นแบบประสบความสำเร็จ กลุ่มที่ 2 อีก 30 % เป็นชนชั้นกลาง ไม่ประสบปัญหา มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และ กลุ่มที่ 3 กว่า 60 % ไม่มีความมั่นคงทางด้านที่ดินทำกิน ต้องรอคอย และทำกินปีต่อปี หากจะแก้ทุกปัญหาที่มีได้หมด ต้องใช้หลักให้นักวิชาการเป็นตัวเชื่อม ดึงเอาผู้รู้ที่มีปัญหามาพูดคุย วางแผน ต่อหน้าประชาชน ให้เกิดเป็นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
“ปัญหาใหญ่ของเกษตรกร อยู่ที่ไม่มีคนชวนคุย ไม่มีการฝึกอบรม และค่านิยมบริโภคแทรกซึมเข้าไป หากจะเน้นต้องสอนให้เปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้การบริโภค ลดรายจ่ายได้มากกว่าครึ่ง ทุกข์ก็ลดลง และมีปัจจัยการผลิตอย่างพอเพียง โดยแนวทางการช่วยเหลือนั้น คือ 1.รัฐต้องไม่ยึดที่ทำกิน เพราะหากยึดจะเป็นการตัดวงจรชีวิตเกษตรกร จากความยากจนทำให้ไม่มีอนาคต 2.สถาบันการเงิน ต้องแชร์ความเสี่ยงกับเกษตร มีประกันภัย เพิ่มต้นทุนการกระจายรายได้ 3. ให้ความรู้ จากเกษตรกรสู่เกษตรกร ถ่ายทอดกัน แต่ต้องมีคนจัดการความรู้ เชื่อมประสาน การฝึกอบรม โดยรูปแบบต่างๆนั้น ต้องเน้นให้คนที่มีความพร้อมลงไปคุยและร่วมปัญหากับเกษตรกร”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า นักวิชาการต้องช่วยกระตุ้นเกษตรกร เพราะขณะนี้ถูกกระตุ้นจากการโฆษณา สารเคมี เทคโนโลยีใหม่เสียหมด จึงจำเป็นต้องดึงเกษตรกรออกจากหลักการพึ่งพาตนเอง โดยสิ่งที่ต้องเร่งทำ คือการสร้างกระบวนการพูดคุย หลักเกษตรพอเพียง หากดึงให้กลับมาสู่เรื่องนี้ได้ สติก็จะมา เกิดการเรียนร่วม ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว
ทั้งนี้ ช่วงท้ายการประชุม ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การสร้างพลังชุมชนเชื่อมโยง ความรู้ ชุมชน อำนาจรัฐ เพื่อช่วยให้การปฏิรูปประเทศไทยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม มี 3 วิธี คือ 1.ปฏิรูปที่ดินทำกินของเกษตรกรอย่างจริงจัง 2.กลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องปรับการดูแลเกษตรกร และ 3.ควร จัดตั้งศูนย์ประสานการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีทั่วทุกจังหวัด โดยให้เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งหากอาศัยช่วงกระแสการปฏิรูปประเทศไทยในการผลักดัน จากภาคประชาชน จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินได้อย่างเป็นรูปธรรมจากภาคประชาชนมากขึ้น