ปฏิรูปประเทศไทยที่จ.อุบลฯ กระหึ่ม
เมื่อเร็วๆนี้ สทท.11 อุบลราชธานี ร่วมกับสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และเครือข่ายภาคประชาสังคมอุบลราชธานี จัดการเสวนาปฏิรูปประเทศไทยในหัวข้อ “มองไปข้างหน้าเยียวยาเมืองอีสาน” ออกอากาศทาง สทท.11 อุบลราชธานี เคเบิ้ลทีวีและวิทยุชุมชนในเครือข่าย วงย่อยวันที่ 29,30 พฤษภาคม 2553 และวงใหญ่วันที่ 3 มิถุนายน 2553 โดยมีภาครัฐ,ภาคเอกชน,เครือข่ายชุมชน,นักการเมือง,พระภิกษุ,องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมประมาณ 40 คน
นายจำนง จิตนิรัตน์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง เชื่อว่าปรากฎการณ์เรื่องสี ต่าง ๆจะเป็นแค่ชั่วคราวมาปีสองปีแล้วจะหายไป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้คนได้นิ่งทบทวน เหมือนเดินมาสุดทางไม่มีอะไรที่แรงมากกว่านี้ไปอีกแล้ว ทุกคนช็อก!ต้องนิ่งคิดและสรุปบทเรียน
ส่วนแรกที่ต้องสรุปบทเรียนคือ “ข้าราชการ” ตั้งคำถามว่าศาลากลางซึ่งช่วยเหลือประชาชนมามากมาย ทำไมประชาชนมาเผาสถานที่เรา ไม่มีความรักความศรัทธาสถานที่เลยหรือ ถ้าจะว่าได้ข้อมูลมาผิด ถ้ารักจริงผิดยังไงก็ไม่น่าเผา ต่อไปคือ “นักการเมือง” พรรคการเมืองต้องสร้างปัญญาให้กับประชาชน ที่ผ่านมามีแต่ดึงเป็นพวก เป็นหมู่ แบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เราต้องตั้งคำถามกับประชาธิปไตย เลือกมาทุกพรรค แต่กลับรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องทบทวน
ส่วนสุดท้ายแต่ต้องเริ่มก่อนคือประชาชน เพราะข้าราชการ,นักการเมืองทำผิดมานาน แก้ยาก เริ่มที่ภาคประชาชน จ.อุบลราชธานีมีชุมชนใหม่สวยที่สุดในประเทศไทย คือบ้านหนองผำ สวยงาม สภาพแวดล้อมดี สะอาด มีกองทุนสวัสดิการจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เด็กรักบ้าน เพราะมีการรวมกลุ่มชาวบ้านร่วมคิดร่วมทำอย่างจริงจัง มุ่งเน้นพึ่งตนเองจึงจะไปรอด เสนอให้ศาลากลางหลังใหม่ต้องมีห้องสภาประชาชนให้ชาวบ้านมาร่วมแสดงความคิดเห็น
ที่ผ่านมาชาวบ้านไปชุมนุมสมัชชาคนจน เกษตรกรรายย่อย หินกรูด ปิดถนนเลนเดียวก็ถูกคนด่า การถูกกดขี่อัดอั้นจนประทุ คนกรุงต้องเข้าใจพี่น้องที่มาเรียกร้องความเป็นธรรม อยากแรงเหมือนราชประสงค์อีกไหม ไม่ควรจะถึงขั้นนั้น ทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนโอกาสที่จะเกิดอีก
อมร นิลเปรม อดีต สว.อุบลราชธานี ชี้ปัจจุบันภาคประชาชนไม่ค่อยตื่นตัว และไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือให้การสนับสนุนแต่อยู่ในวงแคบ มีแต่คำพูดว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม แล้วภาครัฐเองเคยเปิดโอกาสหรือไม่ เช่น งบประมาณในอบต. ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ไม่ใช่ฝ่ายบริหารเสนอ แล้วอนุมัติให้ดำเนินการได้เลย ภาครัฐต้องสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม
สุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ได้เปิดใจให้กว้าง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะบางส่วนสามารถดำเนินการได้ทันที บางส่วนยังติดขัดด้านกฎหมาย ไม่อยากมองจนสุดกู่ แต่วันนี้พอจะขยับเรื่องไหนได้ก็จะทำไปก่อน บางอย่างต้องใช้เวลา และจะพยายามทำให้ดีที่สุด และหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ต้องบริการและทำงานให้ได้เร็วที่สุด งานบริการต่างๆ คงไม่หยุดชะงัก
พระราชธีราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เสนอแนวทางเยียวยาเหตุวิกฤติครั้งนี้ 4 ประการคือ 1.สร้างความยุติธรรม ไม่ใช่เฉพาะสิทธิเสรีภาพ ตอนนี้ประชาชนกำลังเรียกร้องหาความยุติธรรมว่าอยู่ที่ไหน 2.นำประชาชนด้วยปัญญา ใช้ปัญญาให้มากกว่าการใช้กำลัง สภาพบ้านเมืองที่อยู่ในวิกฤติ เพราะให้กำลังใช้อาวุธ การทำงานด้านสื่อควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ระบายเพื่อลดความอัดอั้นตันใจ ไม่มองเป็นสองมาตรฐานในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพราะประชาชนมีความรู้ อย่าดูถูกประชาชน ประชาชนจะกลั่นกรองเอง 3.พัฒนาทางด้านจิตใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เอาหลักของพระพุทธเจ้า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทำอย่างไรให้จิตใจคนมั่นคง เป็นมาตรฐาน ไม่ว่ากระแสอะไรจะผ่านเข้ามา หากสร้างกระแสใจให้เข้มแข็งแล้ว ย่อมเป็นการดี การพัฒนาจิตใจทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ใช่ฝากไว้ที่พระ เพราะปัจจุบันจำนวนพระมีน้อย ผู้ฟังทางบ้านบอกว่า คุณภาพการศึกษาของสามเณีแย่ ความจริงคือ ไม่ได้แย่ การสอนสามเณรเป็นการเก็บตกจากสังคม และ 4.รู้จักในการให้โอกาส วันนี้หลายภาคส่วนยังไม่ได้เข้ามา ต้องให้โอกาสได้เข้ามาพูดให้ทัดเทียมกัน ตอนนี้โอกาสต่างๆยังไม่ทัดเทียมกัน
การออกอากาศครั้งนี้มีประชาชนทางบ้านโทรศัพท์มาแสดงความเห็นร่วม 100 สาย มีทั้งที่สอดคล้องกับผู้ร่วมเสวนา และแจ้งปัญหาระดับพื้นที่ ระดับบุคคล เสนอให้มีรายการแบบนี้อีกเป็นประจำ เพราะได้เรียนรู้ความคิดคนอื่นและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น