เปิด 8 ประเด็นหลัก นักการเมือง นายทุน ยุคนไทยเผาบ้าน-เผาเมือง
“สน รูปสูง” แนะรัฐหันไปลงโทษผู้กระตุ้น ยุยง พร้อมปลอบเสื้อแดงอย่าคิดว่าแพ้ เหตุไม่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งไหน มีคนยากคนจน ออกมาผนึกกำลังเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่ากับครั้งนี้ วันนี้คนในสังคมรับรู้ ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมมีอยู่จริง ก้าวต่อไปให้จับตารัฐจะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน ครั้งที่ 1/2553 ณ ห้องประชุม KU HOME มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) คนที่ 1 กล่าวถึงบทบาทสภาองค์กรชุมชนกับการปฏิรูปประเทศไทย จากนั้นได้มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศว่า เป็นการทรุดใหญ่ของสังคม สิ่งที่สะท้อนปัญหาเหล่านี้อยู่ 8 ข้อหลัก ได้แก่ 1.สถาบันทางการเมือง การปกครองอ่อนแอ แตกแยก แบ่งฝักฝ่าย ยุยง ปลุกปั่น ทำให้สังคมก้าวสู่อนาธิปไตย เผาบ้าน เผาเมือง เพียงเพื่อชนชั้นปกครองแย่งยึดอำนาจทางการเมืองเท่านั้น
“เราจะได้ยิน ตำรวจมะเขือเทศบ้าง ทหารแตงโมบ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยืนดูเผาศาลากลางจังหวัด ก็ชอบใจ ตบมือให้ด้วย ตำรวจยืนดูเขาเผาบ้าน เผาเมือง แถมยังคว้ากล้องมาถ่ายภาพเก็บไว้อีก เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันทางการเมือง สถาบันการปกครองอ่อนแอ แตกแยก”
นายสน กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งข้าราชการ และไม่ใช่ข้าราชการ ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบ ทำให้เกิดการคอรัปชั่นอย่างหนาแน่น 3.ทิศทางนโยบายการพัฒนาประเทศผิดพลาด เพราะเอื้อประโยชน์ให้คนรวย ละทิ้งและทำลายคนจน 4.การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีที่สูงขึ้นนั้นเกิดการกระจุกตัวสร้างความร่ำรวยให้กับคนเพียง 20% ในกลุ่มคนระดับบนของสังคม ซึ่งคนส่วนใหญ่ 80% ยังมีฐานะทรงทรุดและยากจน
“เรื่องที่ 5 คือ กติกาการจัดการทรัพยากรไม่เป็นธรรม เกิดการกระจุกตัว จำนวนการถือครองที่ดินใน 100% คิดเป็นกลุ่มคนระดับบนของสังคมจำนวน 20% ที่ถือครองสิทธิกว่า 80% เฉลี่ยคนละ 200 ไร่ ของจำนวนที่ดินทั้งหมด ขณะที่คนจำนวน 80% ของประเทศมีสิทธิถือครองที่ดินได้เพียง 20% เท่านั้น เฉลี่ยเป็นคนละ 1 ไร่เศษ”
รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า เรื่องที่ 6 การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียม และเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาก่อนที่กลุ่มเสื้อแดงจะรวมตัวกัน 7.กระบวนทัศน์ของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองยังมีการรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจ ไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมภาคประชาชน มีลักษณะเจ้าขุนมูลนายอยู่ แม้ระบบศักดินาจะล้มไปแล้วเกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่คนที่เป็นข้าราชการยังสืบทอดวิธีคิดและกระบวนทัศน์เช่นนี้อยู่ รวมถึงนักการเมืองด้วย ดังนั้นประเทศไทยจะไปฝากความหวังไว้กับกระบวนทัศน์แบบนี้ไม่ได้ เพราะราชการล้มเหลว
“เรื่องสุดท้าย การให้บริการของรัฐไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะสวัสดิการของรัฐ เช่น ครูในโรงเรียนบ้านนอกเกษียณก็ยังได้รับเงินบำนาญ ชาวบ้านเห็นก็รู้สึกได้ทันทีว่าขณะทำงานก็ได้รับเงินเดือนทุกสิ้นเดือนแล้ว พร้อมสวัสดิการอีก เป็นต้น แล้วชาวนาเป็นอย่างไรบ้าง ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ สุดท้ายสังคมก็เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรายได้และความเหลื่อมล้ำใน สังคมอย่างร้ายแรงและรุนแรง”
นายสน กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยในขณะนี้ ว่า เป็นห่วงรัฐบาลจะไม่มีนโยบายแผนปฏิรูปประเทศไทยที่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนโรดแมป ข้อ 2 การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาจจะมีปัญหา ขณะนี้ทั้งสื่อและรัฐบาลโหมแต่จะปราบปรามภาคประชาชน ซึ่งการนำผู้กระทำความผิด เผาบ้านเผาเมืองมาลงโทษ การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราชประสงค์ นั้นก็เห็นด้วย เรื่องปฏิรูป เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันทำ
“สิ่งที่ห่วงใยมากกว่าควบคู่กัน คือ ปัญหาที่มาพร้อมกับประเทศไทยแต่โบราณ คือปัญหาพื้นฐาน ของพี่น้องคนยากจนที่ออกมา ปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ ที่พวกเขาเป็นมนุษย์ เกิดในสลัม เกิดในดินแดนความยากจน เขาเกิดมา เขารู้ได้เลยว่า เขาต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ เมื่อมีคนมากระตุ้นให้เขาลุกขึ้นสู้ พวกเขาลุกขึ้นสู้ได้ทุกอย่าง และหากจะเอาคนมาลงโทษจริงๆ ต้องเอาพวกที่มากระตุ้น ยุยง มาลงโทษ โดยเฉพาะนักการเมือง นายทุน ที่ขัดแย้งกัน ต้องลงโทษให้หนัก อย่ามามุ่งที่คนจน เพราะชั่วชีวิตเขา สะสมปัญหาให้ชีวิตเขาต้องเป็นเช่นนั้น ต้องนึกเห็นใจ ปัญหาหลักของการมาร่วมชุมนุมไม่ใช่ปัญหาพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ไม่ใช่แค่เขารักผู้นำเพียง 4-5 คน หรือการต่อต้านอำนาจอำมาตยาธิปไตย”
รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึงผู้นำชุมชนต้องสร้างความเข้าใจคนในชุมชน อย่าคิดว่าพ่ายแพ้ แท้จริงแล้ว กำลังชนะ เพราะในประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่เคยมีคนยากคนจน ออกมาผนึกกำลังเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่ากับครั้งนี้ แต่สิ่งที่เขาทำได้ คือ คนในสังคมรับรู้ว่า ในสังคมนี้ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมอยู่จริง ทุกคนอยากปฏิรูปจริง เท่านี้ก็ชนะ สร้างให้ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ให้คนในชุมชนหันมาสนใจ และใส่ใจตัวเองมากขึ้น ปัญหาที่มากขึ้น ทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาที่ดินทำกิน การรับสวัสดิการของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ที่กำลังมองกันอยู่จะจัดการกันอย่างไรต่อไปในอนาคต
ส่วนการสร้างประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทยนั้น นายสน กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องไปจับคนขี้โกง เพราะเป็นสิ่งที่ทำจับไม่ได้ ไม่ต้องไปปฏิรูปนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ให้ถือว่า ครั้งนี้ เป็นความตื่นตัวทางการเมือง เพียงแต่อย่าใช้ความรุนแรงให้เปลี่ยนมาผนึกกำลังช่วยกันเปลี่ยนประเทศไทย แล้วจะได้ ประชาธิปไตยที่แท้จริง
“การผนึกกำลังเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย มีอยู่หนทางเดียว คือ การให้อำนาจภาคประชาชนคนยากจน สูงขึ้น เข้าถึงทรัพยากร ให้เข้าถึงง่ายขึ้น โดยเฉพาะในตำบลท้องถิ่นของเขา บ้าน หมู่บ้าน ท้องถิ่น ภูมิปัญญา กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว”