คณะกก.เสริมสร้างความเข้มแข็งฯ คลอดข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย
หลังประชุมวาระพิเศษเป็นเวลา 2 วัน เสนอคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้รัฐบาลสนับสนุน “กลไกภาคประชาชน” ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศจากฐานชุมชนท้องถิ่นและมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (13 พ.ค.) ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติวาระพิเศษ ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 1 โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ หลังจากคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวาระพิเศษ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินการและวิธีการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่น ต่าง ๆ มาร่วมอภิปรายเสนอข้อคิดเห็นและประเด็นต่าง ๆ
หลังการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทย มีแนวคิดหลักคือ คืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง บริหารจัดการทรัพยากร ฟื้นสถาบันและองค์กรในชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันอย่างน้อย 6 ส่วน ได้แก่ 1. การลดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางสังคมการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการพัฒนา/สร้างรายได้ โดยมุ่งที่ 1) คนจนรายได้ คนจนโอกาส และจนสิทธิ 2) พื้นที่ที่มีศักยภาพและภาระที่แตกต่างกัน 2.การสร้ากลไกการปฏิรูป (ระยาว) เพื่อขับเคลื่อนให้แนวคิดการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้นได้ 3. การปฏิรูประบบนโยบาย แผนและงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการจัดขบวนการของชุมชนท้องถิ่น 4.การปฏิรูประบบกฎหมายและความยุติธรรม อันเป็นคานงัดของการปรับบทบาท 5.การปฏิรูประบบการสื่อสารและการเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มศักยภาพคน ผู้นำและองค์การชุมชนท้องถิ่น และ 6.การปฏิรูประบบการป้องกันการทุจริต ที่เป็นการส่งเสริมการทำบทบาทของหน่วยงานรัฐองค์กรพัฒนาสาธารณะประโยชน์ องค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับข้อเสนอ ประเด็นและวิธีการ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย มีดังนี้
1.แนวคิดหลัก คือ การคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น
คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ยึดหลักการของการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดการตนเองจนสามารถจัดขบวนในการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากร ฟื้นสถาบันและองค์กร ในชุมชนท้องถิ่นอย่างครอบคลุมทุกระบบเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มสมรรถภาพในการดำรงชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ คน ผู้นำและองค์กร ที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่าและน้ำ การศึกษา สุขภาวะ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม เศรษฐกิจและอาชีพ ตลอดจนการเมืองการปกครอง โดยต้องมีการปรับบทบาทของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาสาธารณะประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขององค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการตนเองให้ตอบสนองต่อชุมชนท้องถิ่น และการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้นำชุมชนท้องถิ่น
2. องค์ประกอบ
การปฏิรูปประเทศไทย โดยการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นมีองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงกัน อย่างน้อย 6 ส่วน ได้แก่
1) การลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม และการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาและสร้างรายได้ โดยมุ่งที่ 1) คนจนรายได้ จนโอกาส และ จนสิทธิ 2) พื้นที่ที่มีศักยภาพและภาระที่แตกต่างกัน
2) การสร้างกลไกการปฏิรูป เพื่อขับเคลื่อนให้แนวคิดการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้นได้
3) การปฏิรูประบบนโยบาย แผน และ งบประมาณ เพื่อสนับสนุนการจัดขบวนของชุมชนท้องถิ่น
4) การปฏิรูประบบกฎหมายและความยุติธรรม อันเป็นคานงัดของการปรับบทบาท
5) การปฏิรูประบบการสื่อสารและการเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มศักยภาพคน ผู้นำและองค์กรชุมชนท้องถิ่น
6) การปฏิรูประบบการป้องกันการทุจริต ที่เป็นการส่งเสริมการทำบทบาทของหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาสาธารณะประโยชน์ องค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. ข้อเสนอกลไกปฏิรูประเทศไทย
รัฐบาลสนับสนุน “กลไกภาคประชาชน” ให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศจากฐานชุมชนท้องถิ่นและมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งสองกลไกดำเนินงานในช่วงเวลาเดียวกันและทำงานหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ดังนี้
1.กลไกภาคประชาชน ในเบื้องต้นใช้ชื่อว่า “สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งจะมีการดำเนินการภายใต้แนวคิดว่าด้วยการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบดังนี้
1.1 บทบาทหน้าที่ ให้ข้อเสนอแนะ ร่วมติดตามและสนับสนุนการจัดกิจกรรมสมัชชาปฎิรูปประเทศไทย (อาจจะเรียกเป็นอย่างอื่น)
1.2 โครงสร้าง ให้มีการจัดตั้งกลไกภาคประชาชนใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด และ ระดับชาติ
1.3 หน่วยงานสนับสนุน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ระดับชาติจัดให้มีคณะทำงานที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของกลไกภาคประชาชนมาจากองค์กรที่มีภารกิจในการหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น อาทิ พอช. สสส. สช. สกว. ฯลฯ และระดับจังหวัดมอบหมายให้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานระดับจังหวัดในพื้นที่ทำหน้าที่หน่วยงานสนับสนุนการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยพื้นที่ในระดับตำบล เครือข่าย และอื่นๆ ที่เป็นโครงสร้างทางสังคมของแต่ละจังหวัด
1.4 ระยะเวลาการดำเนินงาน ในเบื้องต้น 3 ปี
2. คณะกรรมการ (อำนายการ) ปฏิรูปประเทศไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกลไกที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการแก้ปัญหาเร่งด่วนและระยะกลาง ดังนี้
2.1 สำนักงานเลขานุการ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.2 บทบาทหน้าที่ : อำนวยการให้เกิดการปฏิบัติจริงและจัดหางบประมาณสนับสนุนกลไกภาคประชาชน
2.3 ระยะเวลาดำเนินงาน : 3 ปี
4. นโยบายและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม การเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการพัฒนา และสร้างรายได้
4.1 หนี้สินเกษตรกร
จุดประสงค์ เพื่อให้ปัญหาหนี้สินเป็นประเด็นร่วมของทุกฝ่าย เกิดการจัดการหนี้สินแบบบูรณาการและครบวงจร และให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจากองค์กรการเงินชุมชน
ยุทธศาสตร์ 1) ทำให้เกิดกระบวนการการจัดการปัญหาหนี้สินร่วมกัน 2) ทำให้การจัดการหนี้สินเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตเกษตรกรทั้งระบบ 3) ทำให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาการเงินของชุมชนได้
มาตรการ 1) ให้ทุกกองทุนประมาณ 14 กองทุน (เช่น คชจ. กองทุนฟื้นฟู กองทุนสวนยาง ฯลฯ) มาร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรร่วมกัน 2) เร่งรัดให้กำหนดมาตรการชะลอการฟ้อง จับกุม บังคับคดี ยึดทรัพย์ และเร่งดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติภายใน 2 เดือน 3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จัดสรรเงินกู้พิเศษเพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Green Credit) อย่างน้อย 25% ของวงเงินกู้แต่ละปี 4) ปฏิรูปธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธกส.) ให้เป็นกลไกเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกร
กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรผู้เป็นลูกหนี้ของธนาคารและสถาบันการเงินในระบบ
4.2 คุณภาพชีวิตเกษตรกร
จุดประสงค์ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และการเชื่อมโยงวิถีเกษตรกับความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม (มิติสนองปัจจัยสี่ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม สุขภาพ เศรษฐกิจพอเพียง)
ยุทธศาสตร์
1) การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จิตสำนึก และการเรียนรู้ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่เน้นความมั่นคงทางอาหารของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
2) การให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิต
3) การลดความเสี่ยงของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
4) พัฒนาระบบการส่งเสริมการเกษตร
มาตรการ
1) จัดตั้งกลไกเฉพาะกิจ (สำนักงานปฎิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตกร ชุมชนและสังคม : สปกช.) เพื่อสร้างกลไกใหม่ที่มีสถานะภาพทางกฎหมาย (พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน)
2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จัดสรรสินเชื่อพิเศษเพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Green credit) อย่างน้อย ร้อยละ 25 ของวงเงินกู้ในแต่ละปี
กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อย
4.3 การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จุดประสงค์ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและส่งเสริมการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์
1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อปท. ให้เป็นโครงสร้างกึ่งรัฐ-กึ่งชุมชน
2) การจัดระบบเครือข่ายท้องถิ่นหรือสหการเพื่อช่วยเหลือกัน
3) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรและผู้บริหารท้องถิ่น สร้างต้นแบบ และตัวอย่างที่ดีอย่างพอเพียงที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้
มาตรการ
1) งบประมาณให้ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (ร้อยละ 35)
2) เร่งรัดการปฏิบัติตาม พรบ. ขั้นตอนกระจายอำนาจฯ โดยเฉพาะการถ่ายโอนภารกิจ
3) ให้งบประมาณในหมวดอุดหนุนทั่วไปเป็นหลัก
4) ทบทวนและปรับปรุงระเบียบกฎหมายว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์การกระจายอำนาจหรือการคืนอำนาจให้ชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย ท้องถิ่นทุกแห่ง
4.4 การจัดการที่ดินโดยชุมชนท้องถิ่น
จุดประสงค์ ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินในระดับพื้นที่
ยุทธศาสตร์
1) การกระจายการถือครองที่ดิน
2) ชุมชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินรัฐเพื่อการอยู่อาศัย /ที่ทำกิน
3) กระจายอำนาจในการดูแลและใช้ประโยชน์ที่ดินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม
มาตรการ
1) ชะลอการฟ้อง จับกุม บังคับคดี ยึดทรัพย์ กรณีชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา
2) จัดโครงสร้างระบบดูแลที่ดินใหม่ ไม่แยกตามประเภทที่ดิน ตามประเภทหน่วยงาน กระจายให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการดูแลร่วมกัน
3) มีระบบเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินแบบเดียวแต่มีเงื่อนไขเฉพาะของที่ดินแต่ละประเภท ในการจำกัดการใช้ประโยชน์ และมีระบบป้องกันซื้อขายเก็งกำไร
4) จัดทำแผนที่การถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินระดับชุมชน จำนวน 500 ตำบล 70 จังหวัด
กลุ่มเป้าหมาย ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
4.5 สวัสดิการชุมชน
จุดประสงค์ เพื่อส่งเสริมการให้อย่างมีคุณค่า และการรับอย่างมีศักดิ์ศรี
ยุทธศาสตร์ ขยายและพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการระดับตำบล เกื้อกูลดูแลซึ่งกันและกัน (จากสวัสดิการชุมชนสู่บำนาญประชาชน)
มาตรการ เร่งรัดการออกแนวปฏิบัติที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย ประชากรทุกกลุ่มอายุในชุมชนระดับตำบล
4.6 ชุมชนเมือง
จุดประสงค์ เพื่อให้เกิดเมืองน่าอยู่ คนในชุมชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถจัดการตนเองและบริหารจัดการทรัพยากรร่วมได้
ยุทธศาสตร์
1) สร้างกลไกกลางที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาสังคมสถาบันการศึกษา และอื่นๆ มาบริหารเมืองร่วมกัน
2) ให้อำนาจกับกลไกเชิงประเด็นในการจัดการตนเอง
มาตรการ
1) จัดตั้งคณะกรรมการระดับเมือง โดยการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน
2) สร้างโมเดลการพัฒนาควบคู่กับการเจรจากับภาครัฐ ในพื้นที่ที่มีปัญหาเร่งด่วน
3) จัดทำแผนการพัฒนาชุมชนที่คนในชุมชนสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้ โดยชุมชนเป็นแกนหลัก และมีส่วนร่วมปฏิบัติ รวมถึงต้องเชื่อมโยงและบูรณาการกับแผนพัฒนาชนบท
กลุ่มเป้าหมาย ประชากรในเขตเมือง
4.7 เรื่องอื่นๆ
ได้แก่ การศึกษา การจัดการทรัพยากร การปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ระบบกฎหมายและยุติธรรมชุมชน สวัสดิการสังคม และคุณภาพชีวิตแรงงาน อยู่ระหว่างการสังเคราะห์ข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม