“โครงการประกันภัยพืชผล” ปิดความเสี่ยงนาล่ม-ฝนแล้ง ดีเดย์หลังยุบสภา
จากปัญหาสภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดพืชและสัตว์ หากย้อนดูการเบิกจ่ายงบของกรมบัญชีกลางนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินเพียงแค่ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (31 ต.ค.53-10 มี.ค.54) รัฐบาลได้อนุมัติเงินไปทั้งสิ้น 8,431 ล้านบาท
โครงการประกันภัยพืชผลเกษตรเร่งด่วน
เทียบกับปีงบประมาณ 2553 อยู่ที่ 8,946 ล้านบาท ยังไม่นับรวมงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องเจียดงบกลางไปจ่ายชดเชยให้พี่น้องชาวปักษ์ใต้ที่ถูกฝนฟ้ากระหน่ำบ้านเรือนพืชสวนไร่นาเสียหายย่อยยับ
การจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรกรณีพืชไร่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ตามระเบียบกรมบัญชีกลางเดิมกำหนดไว้ที่ไร่ละ 606 บาท แต่พอมาถึงช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 47 จังหวัดปลายปี 2553 รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปคำนวณหาต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของ เกษตรกร และก็ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกรกรณีพืชไร่เสียหายจากภัยธรรมชาติที่ไร่ละ 2,089 บาท จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ครั้นจะกลับไปจ่ายเงินชดเชยที่ไร่ละ 600 บาท เหมือนเดิมเกษตรกรคงจะรับไม่ได้
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ไปทำการศึกษาโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอย่างเร่งด่วน โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้มีการเริ่มดำเนินโครงการนี้ให้ได้ภายในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นต้นฤดูการผลิตข้าวนาปี
นายนริศ กล่าวว่าหลักการคือรัฐบาลกำลังพยายามหาวิธีการที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ไร่ละ 2,000 บาทให้ได้ โดยจะยังคงจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ไร่ละ 600 บาท และส่วนที่เหลืออีก 1,400 บาทจะใช้ระบบประกันภัยพืชผลเข้ามาช่วย และก็ได้มีการตั้งตุ๊กอัตราค่าเบี้ยประกันที่ไร่ละ 140 บาท(10% ของเงินค่าสินไหมที่เกษตรกรจะได้รับที่ไร่ละ 1,400 บาท)
จ่ายร่วม 3 ส่วน รัฐบาล-ธ.ก.ส.-เกษตรกร
แต่ถ้าจะให้เกษตรกรเป็นผู้รับภาระจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยฝ่ายเดียวคงจะไม่ไหว นายนริศ กล่าวว่าจากการหารือกับสมาคมประกันวินาศภัยและและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ก็ได้ข้อสรุปว่าเพื่อเป็นการสนับสนุนและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร ควรจะแบ่งค่าเบี้ยประกันภัยออกเป็น 3 ส่วน โดยรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง ธ.ก.ส.ออกให้อีกส่วนหนึ่ง และที่เหลือเป็นหน้าที่ของเกษตรกร
แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าทางบริษัทประกันภัยจะคิดค่าเบี้ยเท่าไหร่ ซึ่งทางสมาคมประกันวินาศภัยขอลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลแล้วกลับไปหารือกับสมาชิกสมาคมฯก่อน จากนั้นจะนำค่าเบี้ยประกันมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของ ธ.ก.ส.ก็เสนอว่าจะใช้วิธีลดดอกเบี้ยจูงใจให้เกษตรกรซื้อประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เพราะเป็นการปิดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้สูญ กรณีเกิดปัญหาภัยพิบัติ ถือว่าเป็นลูกค้าชั้นดี โดยให้มีการนำเงินที่เกษตรกรจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยเข้าไปรวมอยู่ในวงเงินสินเชื่อที่ ธ.ก.ส.จะอนุมัติให้เพิ่มเติม
ปิดความเสี่ยงล้มละลายภัยธรรมชาติ แต่คิดไม่ตกค่าเบี้ย
ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า การคำนวณอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ทางสมาคมฯคงจะต้องขอหารือกับทางสมาชิกอีกครั้ง หลังจากที่เดินทางไปดูพื้นที่เพาะปลูกจริง แต่ที่เป็นห่วงคือบางพื้นที่มีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้ง บางพื้นที่ก็ไม่มีปัญหา ฉะนั้นในเรื่องของการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันอัตราเดียวทั่วประเทศนั้นคงจะมีความเสี่ยงมาก เพราะในแต่ละพื้นที่ยอมมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน และที่สำคัญโครงการนี้เป็นโครงการแบบสมัครใจ หากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อยเบี้ยประกันก็แพง แต่ถ้าเข้าร่วมโครงการทั้งหมดก็มีความเป็นไปได้ที่อัตราค่าเบี้ยประกันจะอยู่ที่ 140 บาทต่อไร่
ส่วนนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 57 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.ประมาณ 37 ล้านไร่ หากจะให้ ธ.ก.ส.ออกค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร โดยสมมุติว่าคิดค่าเบี้ยประกันภัยที่ไร่ละ 50 บาท ก็จะทำให้ ธ.ก.ส.สูญเสียรายได้ปีละ 1,800 ล้านบาท แต่ถ้าใช้วิธีการลดดอกเบี้ยให้ทุกๆ 0.25% จะทำให้ให้ ธ.ก.ส.สูญเสียรายได้ปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะให้ ธ.ก.ส.เข้าไปช่วยเหลืออย่างไร
อย่าง ไรก็ตาม หากธ.ก.ส.สามารถชักชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรได้มากเท่าไหร่เบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งมีราคาถูกลง และยังเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะการเกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ได้เกิดปัญหาทีเดียวพร้อมกันทั่ว ประเทศ บางช่วงฤดูกาลผลิตภาคเหนือไม่มีปัญหา แต่ไปเกิดปัญหาทางภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส.ก็พร้อมที่จะเข้าสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการให้ได้จำนวนมากที่สุด โดยลูกค้าที่ต้องการจะเข้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ก็อาจจะขอให้ลูกค้าเข้าโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรไปด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจร โดยธ.ก.ส.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้ในอัตราพิเศษ เพราะถือเป็นลูกค้าชั้นดี
ซื้อใจรัฐบาล ประกันภัยพืชผลก่อนยุบสภา?
จากการสำรวจปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร สาเหตุหลักๆจะมาจากปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ กับปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง และโรคระบาดในพืช ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ที่ผ่านมาจะใช้วิธีรับจำนำและประกันรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าว โดยรับประกันราคาข้าวเปลือกที่ตันละ 11,000 บาท เพื่อปิดความเสี่ยงกรณีที่ราคาข้าวตกต่ำ ส่วนโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะมาปิดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ทั้งปัญหาน้ำเกินและปัญหาน้ำขาดจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไร่ละ 2,000 บาท อย่างนี้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างแน่นอน
แต่ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ คือยังไม่สามารถหาตัวผู้ที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระหรือช่วยออกค่าเบี้ยประกันแทนเกษตรกร จะไปหวังพึ่งบริษัทประกันฯคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่องค์กรการกุศลต้องแสวงหากำไร สุดท้ายเห็นที่จะหนีไม่พ้นต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ปกติทุกปีรัฐบาลจะต้องจัดงบฯปีละหมื่นล้านบาทมาจ่ายให้กับเกษตรกรที่ประสบสารพัดภัยพิบัติอยู่แล้วทุกปี
……………………………………
ถ้าอยากจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลประกาศยุบสภาด้วยแล้ว ยิ่งต้องรีบจัดสรรงบกลางหรืองบกลางปี 2554 มาช่วยชาวบ้านจ่ายค่าเบี้ยประกันให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย ว่างานนี้จะซื้อใจกันได้หรือไม่