‘เมืองน่าน’ ระดมสมองร่วมปฏิรูปประเทศไทย
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนจังหวัดน่าน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานท้องถิ่นเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จังหวัดจัดการตนเอง โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน(พอช.)และสถาบันการจัดการทางสังคม ณ ห้องประชุมมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน
นายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคมภาคเหนือ (สจส.ภาคเหนือ) กล่าวว่า แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายพื้นที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรจะพูดคุยร่วมกัน คือ ภาพสุดท้ายของแต่ละจังหวัดหรือเป้าหมายของการจัดการตนเอง และที่สำคัญเรื่องจังหวัดจัดการตนเองยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศไทย เพราะความวุ่นวายตอนนี้เป็นผลมาจากเหตุของการรวมศูนย์อำนาจ ที่ทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม หากปฏิรูปการเมืองไม่ได้ปฏิรูปเชิงอำนาจ หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการอำนาจจัดการทรัพยากรได้ วัฏจักรความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุด
“จังหวัดจัดการตนเองมีอยู่สองนัยยะ หนึ่งคือการทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และสองคือการผลักดันนโยบายให้รองรับ ซึ่งมีการทำอยู่หลายครั้งในชื่อของจังหวัดบูรณาการ โดยในหลายจังหวัดมีการนำแผนของภาคประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนจังหวัดและมีงบประมาณสนับสนุน ยกตัวอย่าง การขับเคลื่อนงานจังหวัดจัดการตนเองในเชียงใหม่ ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม หอการค้า อุตสาหกรรม เรียกว่าภาคีเชียงใหม่บ้านจุ้มเมืองเย็น โดยเน้นในสี่ด้าน เริ่มจากการสำรวจต้นทุนภายใน งานศึกษาข้อมูลงานวิชาการ งานด้านสื่อ และงานด้านกฎหมายและนโยบาย”
นายสวิง กล่าวต่อว่า การสร้างจังหวัดจัดการตนเองต้องเริ่มจากต้นทุนของตัวเอง ทำอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการใหม่ทางการเมือง เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญมาตราไหน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะการจัดการและอำนาจยังอยู่ที่ศูนย์กลาง ต้องหาวิธีการให้สัดส่วนตรงกลางน้อยลง เชื่อมโยงประเด็นงาน “มัดปุ๊ก” ให้เป็นกลไกการจัดการตนเองในระดับจังหวัด จะทำให้การแก้ไขปัญหาคลี่คลายอย่างรวดเร็ว
นายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานองค์กรพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตำบลน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน กล่าวว่า หลายพื้นที่ในน่านมีงานและแผนในการจัดการตนเองอยู่แล้ว และมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นถ้ามีการรวบรวมรูปธรรมเหล่านี้ให้เกิดแกนหรือแนวทางที่จะจัดการตนเอง เกิดการจัดระบบข้อมูลก่อนการขับเคลื่อน จะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ
ด้านนายสมคิด สีเขียว ประธานเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองตำบลส้าน อ.เวียงสา และนางอมรรัตน์ ยาแก้ว ปลัดเทศบาลเมืองน่าน กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่ ต้องมีการประสานส่วนราชการมากกว่าการประสานเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการในฐานะตัวบุคคล เพื่อให้เกิดกลไกเชิงโครงสร้างที่สอดรับจากหน่วยงานอย่างแท้จริง และควรนำข้อมูลการทำงานของทุกพื้นที่ทุกหน่วยงานมาศึกษาร่วมกัน จัดการเรื่องการทับซ้อน โดยจังหวัดน่านมีการพูดคุยและให้ความสำคัญกับ ๔ ด้านได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติดินน้ำป่า การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
ส่วนนายสุพัฒน์ จันทนา ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ กล่าวว่า จากการที่ พอช.ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนงาของจังหวัดน่านในหลายมิติพบว่ามีการใช้ทุนที่มีอยู่แล้วได้ดี ทั้งทรัพยากรและคน มีพื้นที่ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แนบแน่น รวมไปถึงทุนทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ ทุนทางความรู้ ซึ่งพลังตรงนี้เป็นฐานสำคัญในการยกระดับสู่จังหวัดจัดการตนเองได้ ทั้งนี้จังหวัดจัดการตนเองเป็นเรื่องใหญ่ การดำเนินงานควรจะมีการทำโรดแมป วางแนวทางกับขับเคลื่อนไปทีละก้าวอย่างมีพลัง
ทั้งนี้การประชุมมีข้อเสนอในการขับเคลื่อนต่อไป โดยมีการจัดกลไกขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง แบ่งเป็นทีมข้อมูลเพื่อสำรวจทุนภายในและภายนอก รวบรวม จัดระบบ ทีมขับเคลื่อน นโยบาย กฎหมาย ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ(พรบ.)จังหวัดจัดการตนเอง ทีมสื่อ เชื่อมโยงกลไกการสื่อสาร สร้างความเข้าใจเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง รณรงค์ด้านกฎหมาย และคณะกองเลขาการทำงาน
ขอขอบคุณเว็บไซต์ http://www.codi.or.th