2 จังหวัด "นครศรีฯ-อุตรดิตถ์" ลุยโปรเจคสร้างเมืองให้น่าอยู่
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี กรุงเทพฯ เครือข่ายสถาบันทางปัญญาประชุมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ครั้งที่ 32 เสนอผลงานขับเคลื่อนการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรณี ‘การขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่: นครศรีธรรมราชและอุตรดิตถ์’ โดยมีคณะทำงานทั้งสองจังหวัดร่วมเสนอผลงาน
นายมานะ ช่วยชู ผู้ประสานงานโครงการจังหวัดน่าอยู่จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงโครงการคิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร ขับเคลื่อนเมืองนครสู่จังหวัดน่าอยู่ ว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจ.นครศรีธรรมราชได้ขับเคลื่อนงานในเชิงประเด็นนโยบายสาธารณะ ทั้งด้านสวัสดิการ งานอาสาสมัคร งานเกษตรกรรม ฯลฯ และงานเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมี 40 ตำบลศูนย์การเรียนรู้แห่งกระบวนการชุมชนท้องถิ่นจาก 165 ตำบลทั้งจังหวัด คิดเป็น 1 ใน4 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยวางเป้าหมายระยะเวลา 3 ปีจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ทั้งจังหวัด
“เป้าหมายสูงสุดเราต้องการสร้างให้ชาวเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพลเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติการและผลักดันสู่การเป็นจังหวัดน่าอยู่ ถ้าทุกจังหวัดทำแบบนี้ได้ประเทศไทยของเราก็จะน่าอยู่ด้วย” นายมานะ กล่าว และว่า งานเครือข่ายด้านสวัสดิการ ได้ให้ทุกคนและทุกชุมในจังหวัดช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เน้นให้เกิดความหลากหลายของรูปแบบสวัสดิการที่ชุมชนร่วมคิดทำ ขณะนี้ทำได้แล้ว 80 กว่าตำบลจากเป้า 125 ตำบล ส่วนงานเครือข่ายอาสาสมัคร จัดให้มีศูนย์ประสานความช่วยเหลือจากระดับจังหวัดสู่ระดับพื้นที่ต่างๆ ทั่วนครศรีธรรมราช งานเครือข่ายเกษตรกร ตั้งใจให้เกิดโครงการตลาดสีเขียว งานส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร
สำหรับงานเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ แบ่งเป็น 5 โซนภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ ฯลฯ มีกองทุนภัยพิบัติเพื่อให้ชุมชนได้ช่วยเหลือกันในเบื้องต้น มีการเตรียมตัว วางแผนล่วงหน้า , งานเครือข่ายปกป้องคุ้มครองผลกระทบสุขภาวะ ก็ให้มีแผนจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืนโดยชุมชน การเคลื่อนไหวสิทธิชุมชน และงานเครือข่ายทรัพยากร ให้มีแผนจัดการน้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ให้มีคณะกรรมการร่วมจัดการระหว่างชุมชน รัฐ และเอกชน เป็นต้น
ผู้ประสานงานโครงการจังหวัดน่าอยู่จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า โครงการนี้พยายามส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดดเด่นต่างกันตามที่แต่ละแห่งถนัด เช่น อบต.ปากพูนก็มีจุดแข็งในการจัดการระบบฐานข้อมูลชุมชน ส่วนอบต.ขุนทะเลก็เก่งเรื่องการออกแบบแผนแม่บทชุมชน และขยายสู่ท้องถิ่นต่างๆ ด้วย ซึ่งการทำงานจะเน้นในกระบวนการวิจัย การสื่อสาร เชื่อมโยงเครือข่ายเปลี่ยนแปลงนำสิ่งที่ท้องถิ่นแต่ละแห่งได้ทำมาสรุปเป็นบทเรียนร่วมกัน มีเป้าหมายว่าจะสังเคราะห์ประเด็นนโยบายสาธารณะจากจุดนี้อย่างน้อย 2 เรื่องต่อปี
"เราเรียกกระบวนการขับเคลื่อนงาน ว่า ดอกไม้หุบ ดอกไม้บาน คือ อาศัยพลังจากชุมชนท้องถิ่นผลักดันกระตุ้นงานเมืองน่าอยู่โอบล้อมการทำงานของตัวองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคราชการจังหวัด อีกส่วนก็ใช้จุดแข็งขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือรัฐที่เข้มแข็งเรื่องนี้อยู่แล้วกระตุ้นภาคชาวบ้านให้มาร่วมคิดทำผ่านเวทีถังความคิด ซึ่งขณะนี้ใช้พลังเคลื่อนงานจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้ แกนนำเครือข่ายอาสาสมัครที่ยืดหยุ่นได้ กลุ่มอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด กลุ่มทุนบุคคลของจังหวัด ตำบลศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เช่น อบต.ปากพูน อบต.ขุนทะเล เป็นต้น สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง มหาวิทยาวลัยลักษณ์ และอบจ.นครศรีธรรมราช"ผู้ประสานงานโครงการจังหวัดน่าอยู่จ.นครศรีธรรมราช กล่าว
ส่วนนายประพันธ์ แจ้งเอี่ยม หัวหน้าภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มจากสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งโดยเริ่มจาก 60 ตำบล เน้นจากเครือข่ายต่างๆ รวบรวมข้อมูล ปัญหา เพื่อมาหนุนเสริม ให้ทุกคนรับรู้ปัญหาร่วมกัน ขยายแนวทางทำงาน จัดตั้งเวทีภาคีสร้างสุข ภายใต้ชื่อ เวทีฟองน้ำ ระหว่างภาควิชาการ รัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น สนับสนุนให้ชุมชนได้แก้ปัญหาด้วยตนเองสังเคราะห์ความรู้ เป็นเครื่องมือของการพัฒนา เชื่อมโยง ผลักดันเกิดเป็นนโยบายสาธารณะในการจัดการ
“เป้าประสงค์ คือ การสร้างให้เป็นเมืองคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี การท่องเที่ยวเชิงชุมชน และได้รับสวัสดิการ โดยให้แต่ละเครือข่ายขับเคลื่อนได้เอง โดยมีมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุน อาทิ เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายการจัดการที่ดิน เครือข่ายท้องถิ่น ท้องที่ และเครือข่ายการเรียนรู้ พัฒนาสาระการเรียนรู้ในท้องถิ่น”
ด้านนายชัยพร รัตนนาคะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จากการทำงานนี้ จะได้ผู้นำท้องถิ่นที่หลากหลาย ให้เชื่อมโยง ทำงานร่วมกัน คิดร่วมกัน เกิดแนวความคิด ที่เป็นประโยชน์ เกิดแผนงานที่ดี ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ท้องถิ่นมีการเป็นผู้นำระดับล่างสู่ระดับบน ตามความต้องการของประชาชน เอามวลชนเครือข่ายที่มีอยู่ เกิดความมั่นคง ต่อเนื่องสู่วงการกว้างขึ้น
“ปัญหาประเทศไทย คือ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อมโครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม หากเราใช้มหาวิทยาลัยในการคิด ช่วยขับเคลื่อนจากข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ ช่วยสร้างองค์ความรู้แก่ชุมชน เช่น เริ่มจากการอบรม ลูกเสือชาวบ้านเพื่อให้มวลชนพัฒนาไปได้ทุกเรื่อง เริ่มจากแผนหมู่บ้านขึ้นมาสู่ระดับสูง แม้ว่าการบังคับใช้แผน จะเป็นเรื่องยาก จากนักการเมืองที่ไม่ชอบใจ แต่หากเราสร้างเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เข้มแข็ง อย่างน้อยๆ อาจจะยังไม่ได้พัฒนาทั้งจังหวัด แต่จะได้ความสมัครสมานสามัคคี เตรียมประชาชนเป็นหลัก คิดเองทำเอง ก็จะได้แผนการปกครองขั้นพื้นฐานที่แน่นหนาขึ้น”
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงการให้มหาวิทยาลัยแต่ละจังหวัดเข้ามามีบทบาทร่วมกับชุมชนท้องถิ่น 1.เข้ามาร่วมคิดวางแผนกับชุมชน 2.ทำการวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับชาวบ้าน 3.มหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนส่งเสริมการทำงานขององค์กรท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาลให้ร่วมขับเคลื่อนความเข้มแข็งของชุมชน 4.ต้องช่วยชาวบ้านสังเคราะห์ประเด็นนโยบายสาธารณะจากสิ่งที่ชาวบ้านปฏิบัติกันอยู่ให้ได้ และ5.มหาวิทยาลัยต้องช่วยสื่อสารและขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญของชุมชนให้แพร่หลายกว้างขวาง
“บ้านเมืองของเราเสียหายทุกวันนี้เพราะเราไม่สื่อสารประเด็นนโยบายสาธารณะของชุมชน ปล่อยให้คนที่มีความรู้น้อย มีความสุจริตน้อยทำ มหาวิทยาลัยไม่เคยทำตรงนี้เลยเอาแต่สอนวิชา ถ้ามหาวิทยาลัยทำตรงนี้จะเป็นพลังให้กับคนทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล ชุมชน จังหวัด และระดับชาติ สาระของความเป็นประชาธิปไตยคือการโยงประเด็นสาธารณะของคนข้างล่างให้ขึ้นมาสู่ระดับชาติได้ หรืออาจจะมีสภาประชาชนขึ้นมาแก้ตรงนี้” ราษฎรอาวุโส กล่าว