ถอดบทเรียนจากอดีต สร้าง ‘สามเหลี่ยมต้านการทุจริต’
อดีตปธ.ชมรมแพทย์ชนบท เสนอตัดวงจรทุจริต ออกพ้นสังคมไทย ให้องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม สื่อ ร่วมตรวจจับ เวที ‘สมัชชาผู้บริโภค’ ระดมสมองถกแนวทางเสริมภูมิคุ้มกันรองรับองค์การอิสระผู้บริโภค ที่ใกล้คลอดตามรธน. พร้อมชำแหละบทเรียนองค์กรทางสังคมที่ออกความเห็นในประเด็นสาธารณะ จนเสียงปชช.มีความหมาย ไม่เป็นแค่พิธีกรรม
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับ 6 เครือข่าย ร่วมจัดงานประชุมสมัชชาผู้บริโภค ในหัวข้อ “บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤต การเมืองในปัจจุบัน” เรื่อง “เงินทองของเรา สิทธิของใคร (Your Money Your Rights)” เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล และวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในประเทศไทยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องริชมอนด์แกรนด์ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทองค์การอิสระผู้บริโภคในการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ในยุคสื่อทันสมัยโลกเผชิญภัยพิบัติว่า ขณะนี้เรายังไม่มีองค์การอิสระที่จะคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็น่ายินดีที่จากระยะเวลากว่า 10 ปีมีการพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.เรื่องนี้แล้วถึง 7 ฉบับจากหลายฝ่าย จนล่าสุดร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นแกนนำนั้น กำลังเข้าสู่สภาในวันที่ 29 เม.ย.นี้ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่มีสภาผู้บริโภคแห่งชาติ (National consumer Council) ซึ่งตามมาตรา 61 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ขณะที่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้เริ่มขึ้นมีกรรมการชั่วคราวเกิดขึ้นแล้ว
“วันนี้กฎหมายเกี่ยวกับผู้บริโภคมีมากมาย แต่ผู้บริโภคก็ยังไม่มีส่วนร่วมด้วยมากนัก องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค จะสามารถตอบโจทย์ได้ว่า ใครเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ซึ่งองค์การอิสระนี้ต่างจากสคบ.คือจะดูแลผู้บริโภคโดยตรง ส่วนสคบ.จะมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ต่างจากหน้าที่ในการเสนอความเห็นนโยบาย การปฏิรูป การสร้างมีส่วนร่วมของประชาชน”รศ.ดร.วิทยา กล่าว และว่า กรณีรัฐบาลจะผลักดันงบประมาณให้องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคคนละ 5 บาท คิดเป็นประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี เป็นการลงทุนที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน ได้ซื้อสินค้าและบริการที่ดีกว่าเดิม
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการมีองค์การอิสระผู้บริโภค ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ บทบาทแรกองค์การจะต้องช่วยให้ประชาชนสามารถพิทักษ์สิทธิของตนได้อย่างเข้มแข็ง องค์การต้องทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องในการให้ความเห็นในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานของรัฐ และหวังว่าต้องทำหน้าที่มากกว่านี้อีก คือ ต้องทำให้คนที่ใช้สิทธิในปัจจุบัน หรือองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิอยู่ในปัจจุบันมีความเข้มแข็ง ช่วยประชาชนผู้บริโภคที่เดือดร้อนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
“ทำอย่างไรให้คนสามารถใช้เงินของตนได้คุ้มค่า กินอาหารควรกินให้ปลอดภัยอย่างไร ขึ้นรถโดยสารจ่ายค่ารถ ก็ควรมีความปลอดภัย ขึ้นรถไฟก็ควรมีประกันชีวิต ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์แบบที่เขาเต่า แล้วเพิ่งรู้ว่า รัฐบาลไม่เคยทำประกันชีวิตให้เลย หรือไม่เคยมีหลักประกันอะไรเลยในบริการสาธารณะ นี่คือบทบาทแรกขององค์การที่ต้องทำอย่างเข้มข้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ"เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า การซื้อของก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้ เช่น ภาวะโลกร้อนในขณะนี้ก็ต้องลดการบริโภคลงด้วย ฉลาดซื้อจริงๆ ต้องฉลาดไม่ซื้อด้วย ซึ่งในอนาคตบทบาทสำคัญขององค์การ 1.ต้องทำให้คนได้ใช้สิทธิผู้บริโภคอย่างเต็มที่ 2.สนับสนุนให้เกิดกลุ่มองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยทุกจังหวัด ต้องทำให้คนที่คิดต่าง ต่างสีสามารถเข้ามาร่วมด้วยกันได้ จากนั้นต้องทำให้คนเมื่อใช้เงินแล้วต้องคิดถึงเศรษฐกิจ สังคม ท้องถิ่น การเมือง และ3.ต้องลดการบริโภคลงแม้จะยากมากก็ตาม
ขณะที่นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงบทเรียนการให้ความเห็นขององค์กรทางสังคม ว่า ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมีบทบาทขับเคลื่อนผลักดันการให้ความเห็นด้วย ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ, การทำงานตรวจสอบต้องเปิดเวทีให้ประชาชนร่วมอย่างเที่ยงธรรม,กระบวนการไกล่เกลี่ยความเห็นที่ขัดแย้งต้องยึดกรอบผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่การประนีประนอมหรือฮั๊วกันระหว่างองค์กรรัฐกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ซึ่งความเห็นเหล่านี้อาจไม่สามารถเป็นข้อชี้ขาดในเรื่องนั้นๆ ได้แต่ก็เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ ขณะที่องค์กรที่ไม่มีอำนาจไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถมีอิสระได้ ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนว่าจะร่วมมือเพียงใด ขึ้นอยู่กับการสื่อสารสาธารณะและกระบวนการทำงานขององค์กรเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นพลวัตไม่ใช่หลักตายตัว
ส่วนนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรทางสังคมได้มีส่วนออกความเห็นในประเด็นสาธารณะ จนทำให้คนชายขอบมีเสียงและตัวตนในสังคมมากขึ้น เกิดการขยายพื้นที่ทางการเมืองในสาธารณะทำให้กระบวนการตัดสินใจในเรื่องสาธารณะต่างๆ เปิดกว้างขึ้น จากประเด็นที่ไม่เคยได้รับความสนใจกลายเป็นประเด็นสาธารณะได้ (Non-Issue to Public-Issue) และนำไปสู่การแก้ไขเยียวยา ขณะเดียวกันประเด็นสาธารณะก็ขยายผลสู่ประเด็นนโยบายและประเด็นทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนมีความหมายมากขึ้นไม่เป็นแค่พิธีกรรม ซึ่งความเห็นขององค์กรทางสังคมเป็นกรณีศึกษาเป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนกติกาในนโยบายสาธารณะและการตัดสินใจทางการเมืองได้ในท้ายที่สุด
“องค์การภาครัฐมักกลัวการให้ความเห็นขององค์การอิสระ กลัวให้ความเห็นคัดค้าน เพราะเนื่องจากกระบวนการภาครัฐมองปัญหาไม่รอบด้าน กลัวจะต้องไปทบทวนพิจารณาตัดสินใจใหม่ ซึ่งถ้าความเห็นองค์กรอิสระนั้นขาดข้อมูลประกอบเป็นเพียงแค่ความเห็นก็ไม่ต้องกลัว มุมกลับคือถ้าความเห็นขององค์การอิสระเป็นเพียงความเห็นที่ไม่มีข้อมูลตรงนั้นก็จะเป็นจุดตันขององค์กรนั้นเช่นเดียวกัน” ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าว และยกตัวอย่างการออกความเห็นขององค์กรทางสังคมที่มีผลเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ เช่น สิทธิชุมชน ป่าชุมชน คนไร้รัฐ กรณีการแก้ปัญหามาบตาพุด ปัญหาการพิพากษาคดีข้อหาทำให้โลกร้อนของชาวบ้านในจ.ตรัง การเพาะเลี้ยงพืชจีเอ็มโอ เรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ฯลฯ
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการทำงานนขององค์กรอิสระทางสังคม ควรมีที่มาของโครงสร้างบุคลากรในองค์กรที่โปร่งใส ยึดการทำงานโดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ต้องทำงานเพื่อสังคมด้วยจิตสาธารณะ เน้นการทำงานร่วมมือภาคประชาสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม โดยการใช้พลังขับเคลื่อนจากภาคประชาชน ทั้งนี้ ไม่ควรมองข้ามภาครัฐ เอกชน และการทำงานกับเครือข่ายนานาชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมที่ถูกต้องตรงกัน องค์กรจะต้องสร้างเนื้อหาประเด็นขับเคลื่อนที่เอกฉันท์ มีความเข้าใจร่วมกัน ต้องทำให้ทุกคนสามารถรวมพลังกันขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ร่วมกันได้แม้จะมีความคิดที่แตกต่างกันมาก ต้องสร้างพลังประชาชนอย่างแท้จริงบนพื้นฐานประชาธิปไตย และองค์กรต้องทำงานอย่างเต็มที่อย่างต่อเนื่องจึงจะสำเร็จได้
“แก่นแท้ของปัญหาประเทศไทยมาจากการมีโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สมประกอบ เหลื่อมล้ำ แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นรากฐานปัญหาที่ต้องมีการปฏิรูปและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องขับเคลื่อนพร้อมกันหลายด้าน ตั้งแต่การมีกฎหมายต่างๆ ออกมา การดำเนินนโยบายทางการคลัง การจัดการด้านภาษีที่ถูกต้อง เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องผ่านความเห็นของทั้งองค์กรอิสระทางสังคมและภาครัฐ”ดร.วรพล กล่าว
ช่วงสุดท้าย นายพิศิษฐ์ ลีลาวิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงบทเรียนการตรวจสอบการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ ว่า ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการตรวจสอบ ดังนั้นต้องสร้างองค์กรอิสระในการตรวจสอบที่หลากหลาย อย่ามองเป็นเรื่องความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพราะเหตุผลที่แท้จริงการมีองค์กรตรวจสอบที่หลากหลายจะเป็นการซ้ำเสริมในการตรวจสอบเข้มข้นขึ้น เพราะคำว่าผู้บริโภคก็หมายถึงประชาชนในฐานะผู้รับบริการจากรัฐด้วย
ขณะเดียวกันนพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สภาพปัญหาการทุจริตในสังคมไทยตลอดมาเกิดจากวงจรสามเหลี่ยมทุจริต ที่นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการต่างเอื้อหนุนร่วมกันทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งวิธีที่จะต้านการทุจริตนี้ได้ คือ ต้องสร้างสามเหลี่ยมต้านการทุจริต โดยมีกลไกองค์กรอิสระ ศาล ฯลฯ คอยทำหน้าที่ตรวจสอบให้มากขึ้น รวมถึงการให้ภาคประชาสังคมและด้านสื่อสารมวลชนร่วมตรวจจับด้วยในการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะซึ่งต้องทำให้ทั้งสามส่วนนี้เชื่อมโยงกันเหนียวแน่น