มติ ‘สมัชชาผู้บริโภค’ จี้รัฐเร่งเดินเครื่อง 6 ประเด็นคุ้มครองสิทธิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสมัชชาผู้บริโภค “บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤต การเมืองในปัจจุบัน” เรื่อง “เงินทองของเรา สิทธิของใคร (Your Money Your Rights)” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิจังหวัด มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสื่อ สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรชุมชนและสังคม (สปกช.) และแผนงานเสริมสร้างการเรียนรู้กับสถาบันการศึกษาไทย (นสธ.) ณ ห้องริชมอนด์แกรนด์ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี วานนี้ (27 เม.ย.) มีมติข้อเสนอของสมัชชาผู้บริโภค ใน 6 ประเด็นหลัก จากการการประชุมทั้ง 2 วัน
โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอและความห่วงใยในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ กรณีการประมูลคลื่น 3จี, นโยบายความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ,ความปลอดภัยจากอาหาร, การจัดการแร่ใยหิน, ข้อเสนอกรณีร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... และข้อเสนอกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ มีรายละเอียดดังนี้
1.กรณีการประมูลคลื่น 3 จี ได้เรียกร้องให้ทบทวนการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการประมูล การกำหนดราคาประมูลที่ต่ำเกินไป จำนวนการให้ใบอนุญาต การประกาศชัดเจนเกี่ยวกับการบริการขั้นสูงก่อนประมูล เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ยังไม่มีประกาศที่ชัดเจนส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ทราบอัตราค่าบริการคลื่น 3 จี พร้อมระบุให้กทช.ต้องกระจายเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนไม่เน้นเฉพาะเขตเมืองเท่านั้น ให้มีการกำหนดคุณสมบัติผู้รับประมูลให้ชัดเจนว่าต้องเป็นคนไทย ให้มีกฎกติกาที่เข้มงวดต่อผู้ประกอบการ มีกระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลด้วย ขณะเดียวกันกทช.ควรร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะตามมา เช่น ปัญหาธุรกิจความบันเทิงที่ส่งเสริมเรื่องเพศ เกม การพนัน ฯลฯ
2.กรณีความเห็นการจัดการเรื่องแร่ใยหิน (Asbestos) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้ยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหินภายใน 3 เดือน และยกเลิกการผลิตการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1ปี โดยให้มีมาตรการยกเลิกภาษีวัตถุดิบทดแทนแร่ใยหิน ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาทดแทนต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น
3.กรณีนโยบายความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ได้เสนอให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพบริการดังกล่าว เช่น การสร้างระบบอาสาสมัครเฝ้าระวังการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ การขึ้นบัญชีผู้ให้บริการที่กระทำผิดซ้ำซากโดยไม่มีการแก้ไข การเพิ่มช่องทางและเวลาให้บริการคอลเซนเตอร์ โดยเฉพาะหมายเลข 1584, 1491เป็นต้น ให้มีการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยและมาตรฐานบริการในการเข้าผิดอย่างเคร่งครัดและรวดเร็วขึ้นโดยมีการประสานงานจากทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติมจากที่รัฐเคยอุดหนุน โดยแหล่งเงินมาจากค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับผู้กระทำผิดของบริษัทขนส่ง รวมถึงภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมทั้งเสนอให้ลดอายุใบอนุญาตผู้ประกอบการเหลือ 3-5 ปีจากเดิม 7 ปี
4.เสนอให้นโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร ต้องมีองค์กรอิสระหรือตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในกลไกการควบคุมมาตรการต่างๆ ด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดนโยบายต่างๆ ร่วมตัดสินใจ ร่วมมีสิทธิตรวจสอบมาตรการต่างๆ ก่อนบังคับใช้และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ให้มีการส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคผ่านการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเพื่อการตื่นตัว ให้สิทธิผู้บริโภคได้ส่งเสริมผู้ผลิตอาหารที่ดี หรือเกษตรกรที่ผลิตอาหารปลอดภัยได้ง่ายขึ้น ให้มีการแก้ไขกฎหมายเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมให้มีบทลงโทษที่เข้มงวดและรุนแรงอย่างทันการณ์ รวมถึงเร่งให้มีการพัฒนาความร่วมมือและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร อีกทั้งให้กำหนดการออกแบบฉลากขนมเด็กที่ดูง่ายชัดเจนตามหลักโภชนาการด้วย
สำหรับพืชจีเอ็มโอให้มีการติดฉลากจำหน่ายชัดเจน ให้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเช่นเดียวกับในประเทศยุโรป ส่วนการควบคุมผลิตภัณฑ์สารเคมีทางการเกษตร ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณาและขายตามหลักองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ พร้อมทั้งให้มีการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร พัฒนามาตรการด้านทางเลือกเพื่อเลี่ยงการใช้สารเคมี รวมถึงเสนอให้เก็บภาษีสารเคมี ให้รัฐส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช่สารเคมีมากยิ่งขึ้น
5.กรณีข้อเสนอต่อร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... เช่น การให้เพิ่มคำจำกัดความเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค มิติสังคมสาสตร์ เพิ่มการให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้วย ให้มีสร้างกลไกสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมที่เป็นอิสระโดยให้กสทช.จัดสรรงบประมาณ ให้กองทุนสื่อเพิ่มบทบาทเรื่องการให้ความรู้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่องใช้สื่ออย่างไรให้ปลอดภัย ให้เพิ่มกรรมการด้านการศึกษาและวัฒนธรรมเป็น 2 คน ให้เพิ่มคณะกรรมการกสทช.เป็น 14 คนจากเดิม 11 คน เป็นต้น
6.ข้อเสนอกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ เสนอให้ตั้งศูนย์ประสานงานซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากรัฐและเอกชนในการเป็นแหล่งรวบรวมปัญหาเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในประเด็นต่างๆ อย่างเท่าทันสถานการณ์ เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อให้เป็นรูปธรรม ให้ประชาชนมีความรู้สามารถปกป้องตนจากการถูกละเมิดสิทธิด้านสื่อได้ มีการปฏิรูปกฎหมายนโยบาย การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสนอให้มีระบบเยียวยาชดเชยแก่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดจากสื่อ แก้ปัญหาเรื่องการโฆษณา เสนอให้กทช. และสบท.บังคับใช้กฎหมายการส่งข้อความเอสเอ็มเอส เวลาการโฆษณาในรายการโทรทัศน์ ระบบการจัดเรตติ้งรายการ ให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้ให้รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ผ่านระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ให้มีการผลักดันองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภายใต้กฎหมายมาตรา 76 เป็นต้น