เวทีผู้บริโภค เสนอคืนถ้าสินค้า (นักการเมือง) ตกมาตรฐาน
หวังสกรีนคนไม่ดีไม่ให้เข้าสภา พร้อมเรียกร้องหากจะแก้ รธน. ขอให้ลดจำนวนคนใช้สิทธิถอดถอนนักการเมืองพ่วงไปด้วย ด้านประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองกระบวนการเรียกร้อง หรือการใช้สิทธิยังเดินไม่ถูกทางเกิดกีฬาสี จนไปกระทบต่อสิทธิพลเมือง
วันนี้ (26 เม.ย.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิจังหวัด มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสื่อ สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรชุมชนและสังคม (สปกช.) แผนงานเสริมสร้างการเรียนรู้กับสถาบันการศึกษาไทย (นสธ.) ร่วมจัดงานประชุมสมัชชาผู้บริโภค “บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤต การเมืองในปัจจุบัน” เรื่อง “เงินทองของเรา สิทธิของใคร (Your Money Your Rights)” เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล และวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในประเทศไทย เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องริชมอนด์แกรนด์ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กล่าวเปิดการประชุมผ่านคลิปวีดีโอ
จากนั้น รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภค สิทธิพลเมือง ว่า การเป็นพลเมืองที่ดีต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง หากมีกฎหมายหรือกติกาแล้ว ผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิของตัวเองในการตรวจสอบสินค้าและบริการ กฎหมายก็ไร้ความศักดิ์สิทธิ ดังนั้นการพัฒนาสิทธิผู้บริโภคให้เข้มแข็ง จะทำให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิที่ดีขึ้น ทำให้บ้านเมืองโดยรวมพัฒนา การละเมิดสิทธิหรือไม่รู้สิทธิและหน้าที่ของคนในสังคมก็จะลดลง
กรณีการใช้สิทธิการชุมนุมอย่างสงบนั้น ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคทุกคนเป็นพลเมือง ดังนั้นผู้ที่เข้าไปร่วมชุมนุมเรียกร้อง เป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่สถานการณ์ที่กีฬาสีเกิดแล้วยังไม่จบ เราต้องดูด้วยว่า สิทธิที่มีอยู่นั้นไปละเมิดสิทธิคนอื่นด้วยหรือไม่ ทั้งการปิดกั้นถนน มีการตรวจค้นรถทุกคันที่ผ่าน
“การเรียกร้องผ่าน วิถีการรณรงค์นั้น เป็นกระบวนการที่เราต้องยอมรับว่า ยังเดินกันไม่ถูกทางจนทำให้เกิด กีฬาสี หรือการชุมนุมเรียกร้องอย่างที่เป็นอยู่ ผู้ที่เข้าไปร่วมก็ยังไม่เข้าใจสิทธิผู้บริโภคอย่างถูกต้อง จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิพลเมือง ต่อผู้บริโภคกลุ่มคนอื่นๆ จนเป็นที่มาว่า ทำไมเราต้องสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค”
ส่วนการผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภา เชื่อว่า หากประเทศสามารถแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองได้ เรื่องนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นได้โดยไว ถ้าเราสามารถสร้างเครือข่ายผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งได้ การเป็นพลเมืองที่ดีเกิดแน่ ประเทศพัฒนาด้วยความเสมอภาค ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยลงได้
ต่อจากนั้น มีการอภิปรายเรื่อง “การเมืองเรื่องผู้บริโภค บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน” นายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย TPBS กล่าวว่า หากมองนักการเมืองเป็นสินค้า ผู้บริโภคก็น่าจะมีสิทธิตรวจสอบ เมื่อไม่พอใจก็มีสิทธิในการเรียกคืนได้ หรือหากรัฐไม่ทำงานตามที่ได้กำหนดแล้ว ก็เรียกร้องให้ปลดได้เหมือนการเรียกร้องสิทธิผู้บริโภค
ด้านศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาการเรียกร้องสิทธิ ว่า ทุกวันนี้ทุกคนอ้างเรื่องสิทธิ แต่ขึ้นอยู่ที่การตีความ หรือการแกล้งตีความ เรากำลังเรียกร้องสิทธิ แต่เรายังไม่ได้ดูเรื่องหน้าที่ ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น วันนี้สังคมไทยทราบเรื่องนี้สิทธิในการชุมนุม รัฐธรรมนูญยอมให้มี แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อี่น มีกำหนดไว้ในบางวรรคในรัฐธรรมนูญ
“ส่วนการจะตั้งองค์กรอิสระนั้นต้องดูด้วยว่า ตั้งมาเพื่อตัวเราเอง หรือเพื่อผู้ด้อยโอกาสหรือเพื่ออะไร ให้ดูประเด็นสาธารณะเป็นหลัก การดูแลสิทธิสาธารณะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าว่า เราได้ก้าวข้ามประเด็นส่วนตัวไปสู่ประเด็นสาธารณะแล้ว แต่ขณะเดียวกันคนจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ ระหว่างสิทธิสาธารณะกับสิทธิของปัจเจก”
ส่วนนายปรีดา เตียสุวรรณ์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงความพยายามของนักการเมืองในการแบ่งแยกประเทศออกเป็นไพร่ อำมาตย์ โดยตั้งคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร เพราะสังคมไทยมีรากฐานแบบนั้นอยู่ก่อนแล้ว ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นฐานของชนชั้นกลางอย่างปัจจุบัน ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ได้มีจำนวนประชากรมากจนดูแลไม่ไหว เหมือนในประเทศอินเดียและจีน
"ขณะนี้คนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมี 9 % ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ขณะเดียวกันภาคเกษตรของเราก็เหลืออยู่แค่ 33% กำลังขาดแคลนแรงงาน และอาจจะรักษาไว้ไม่ได้หากไม่มีแรงงานต่างด้าว" นายปรีดา กล่าว และว่า ปัจจุบันอำนาจต่อรองของสังคมกลับมาสู่คนชั้นกลาง ซึ่งก็มีรากฐานมาจากรากหญ้า วันนี้นักการเมืองกำลังทำอะไรอยู่ มาแยกพวกเราออกจากการเป็นประชากรไทย ทั้งๆ ที่ ประชากรรากหญ้ามีไม่เกิน 8% โดยในอนาคตกลุ่มคนนี้ที่อยู่ในภาคเกษตรจะมีอำนาจมากขึ้น เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคอาหารไม่พอกิน
นายปรีดา กล่าวถึงนโยบายของรัฐว่า ต้องผลักดันให้คนกลับไปอยู่ในภาคเกษตร อยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร พร้อมมองนโยบายการประกันราคาข้าว แทนการจำนำ นั้น เดินมาถูกต้องถูกทาง ซึ่งหากประกันราคาข้าวและประกันพืชอย่างอื่นไปด้วย ผลักดันให้เกษตรกรกลับอยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และต่อไปเกษตรกรจะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นมาก
เมื่อพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสังคมของประเทศไทย นายปรีดา กล่าวว่า จำเป็นต้องทำเพื่อผลักดันให้คนรากหญ้า ขึ้นมาเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางให้มากขึ้น เราไม่มีเวลามาให้นักการเมืองเหล่านี้มาฉ้อโกง คอรัปชั่นได้แล้ว ทุกท่านสามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสังคมไทย เป็นพลังหลักช่วยปฏิรูปสังคมได้ ทำให้นักการเมืองคอรัปชั่นน้อยลง และไม่มาปลุกปั่นคนรากหญ้ามาชุมนุม
ช่วงสุดท้ายมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม แสดงความเห็นด้วย ว่า นักการเมืองเหมือนสินค้า แต่เป็นสินค้าประหลาดซื้อแล้วคืนไม่ได้ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญแม้กำหนดไว้ก็คืนยากคืนเย็น พร้อมเสนอหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วยกันได้หรือไม่ว่า ลดจำนวนคนใช้สิทธิถอดถอนนักการเมือง ให้คนซื้อนักการเมือง คืนนักการเมืองได้ง่ายขึ้น รวมทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ด้วย
นางสาวบุญยืน กล่าวถึงช่องการใช้สิทธิในบัตรเลือกตั้ง โดยเฉพาะการใช้สิทธิไม่ลงคะแนนนั้น ควรทำให้มีผลมากกว่าเป็นแค่บัตรเสีย ทำอย่างไรให้ช่องใช้สิทธิไม่ลงคะแนนมีคุณค่า วันนี้พรรคการเมืองทำหน้าที่ส่งนักการเมืองมาให้เราเลือก เราไม่สามารถเลือกคนที่ดีที่สุดได้ ทำให้ไม่มีโอกาสเลือกคนที่ดีที่สุด ควรทำให้ช่องไม่ลงคะแนนมีเหตุมีผล หรือดูว่า กี่เปอร์เซนต์ไม่ลงคะแนนช่องนี้ แสดงว่า ประชาชนไม่เลือกนักการเมืองที่พรรคการเมืองเลือกมา พรรคการเมืองต้องเปลี่ยนคน เรื่องนี้สามารถได้หรือไม่ ทำให้สินค้าไม่มีมาตรฐาน ถูกบังคับให้ซื้อ เราไม่ซื้อได้หรือไม่ เรามีสิทธิบอกพรรคการเมืองเสนอสินค้าตัวใหม่เข้ามา เพื่อสกรีนคนไม่ดีเข้าสู่สภา
ส่วนการซื้อสิทธิขายเสียงของนักการเมือง นางสาวบุญยืน กล่าวว่า หากจับได้ว่ากระทำผิด ต้องตัดสิทธิตลอดชีวิต เพราะแสดงว่านักการเมืองคนดังกล่าวไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีคุณสมบัติจะเป็นนักการเมืองอีกต่อไป