ทุ่มงบฯ กว่า 500 ล. อนุมัติแผนงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ฯ
คณะกรรมการสสส. อนุมัติแผนงานสนับสนุนการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ฯ ระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน ด้วยงบฯ 520 ล้านบาท มีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นองค์กรอิสระ
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม อาคารศาสนสถาน กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครั้งที่ 4/2553 โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมอนุมัติแผนงานสนับสนุนการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพและสุขภาวะของเยาวชน และเห็นชอบ(ร่าง)ระเบียบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ. .... โดยแผนงานฯ มีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน งบประมาณ 520 ล้านบาท แบ่งเป็นงบ สสส. 120 ล้านบาท และงบอุดหนุนจากรัฐบาล 400 ล้านบาท เป้าประสงค์มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีแนวทางการดำเนินงานคือ 1. สนับสนุนการคิดริเริ่มนวัตกรรม (วิธีการเรียนรู้, วิธีการบริหารจัดการ) 2. ประสานให้เกิดความร่วมมือขององค์กรเครือข่าย 3. สนับสนุนการพัฒนาวิชาการ และพัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ 4. ส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชนและองค์กรในชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 5. สร้างและสังเคราะห์องค์ความรู้ รวมทั้งสร้างการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยมีเงื่อนไขของความสำเร็จคือ มีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นองค์กรอิสระที่มีการบริหารจัดการระบบใหม่โดยลงทุนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ ที่เรียนรู้จากหลักการและรูปแบบการดำเนินงานของ สสส.
ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแผนหลักประจำปี 2554 - 2556 (แผนหลักฉบับปัจจุบัน มิใช่การยกร่างแผนหลักขึ้นใหม่) และมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมอนุมัติการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO)และสสส. โดยมอบหมายให้รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่หนึ่ง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับเลขาธิการองค์การอนามัยโลก โดยประเด็นความร่วมมือของบันทึกข้อตกลง (MOU) ประกอบด้วย การพัฒนางานวิชาการ เครื่องมือในการสนับสนุนการดำเนินงานและนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะของบุคลากรและเครือข่าย และการพัฒนากิจกรรมร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2553 - 2557 รวม 4 ปี ทั้งนี้ สสส. ได้ทำ MOU ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ในเรื่องการลดการบริโภคแอลกอฮอล์มาแล้วเมื่อปี 2548
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าแผนสุขภาวะชุมชน ปี 2553 (ตุลาคม 2552 - มีนาคม 2553) ที่มีผลการดำเนินงานโดยสรุปดังนี้ 1. อบต. และเทศบาลตำบล 7 แห่ง มีระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรม หรือศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสี่มิติ 2. สนับสนุนกลไกเฉพาะดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้และสนับสนุนการขับเคลื่อนตำบลให้เกิดตำบลสุขภาวะ 3. เกิดการขยายผลไปยังตำบลเครือข่ายที่มีทักษะในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะเรื่องให้ตำบลอื่น 391 แห่ง ทั้งนี้ ดำเนินการโดยตำบลศูนย์ฝึก 120 แห่ง และกลไกเฉพาะ 271 แห่ง 4. เกิดแหล่งเรียนรู้ที่มีพื้นที่ปฏิบัติการจริง มีวิทยากร และองค์ความรู้ในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี จำนวน 1,248 แห่ง โดยตำบลศูนย์ฝึกมี 111 แห่ง และตำบลเครือข่ายมี 1,173 แห่ง
5. เกิดจังหวัดสุขภาวะ 3 จังหวัดโดยแต่ละจังหวัดอยู่ระหว่างการพัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะ 15 เรื่อง ได้แก่ อุตรดิตถ์ (5) ฉะเชิงเทรา (4) นครศรีธรรมราช(6) 6. พื้นที่ระดับตำบลมีระบบฐานข้อมูลตำบลสุขภาวะที่เรียกว่า TCNAP (Thailand Community Network Appraisal Program) ซึ่งได้ทดลองใช้โปรแกรมและดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 30 ตำบล 7. ได้ข้อสรุปเบื้องต้นขององค์ความรู้ที่ได้ผ่านกระบวนการจัดการความรู้และจัดทำกรณีศึกษา 6 ส่วนสำคัญ ได้แก่ คุณลักษณะตำบลสุขภาวะ ชุดความรู้ ระบบการจัดการสุขภาวะชุมชน รูปแบบการพัฒนาสุขภาวะ การบูรณาการและสุขภาวะ 4 มิติ และโครงสร้างเครือข่ายฯ 8. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้รับการพัฒนาสมรรถนะผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติการจริงและศึกษาดูงาน จำนวน 3,224 คน แบ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในตำบลศูนย์ฝึกและตำบลเครือข่าย 2,220 คน และภายใต้โครงการฝึกอบรม 1,004 คน