‘เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน’ จี้รัฐหักภาษี 2% เข้าธนาคารกองทุน
หนุนมติครม.ผ่านหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ชี้รบ.ต้องตั้ง ‘ธนาคารที่ดิน’ ช่วยเหลือที่ทำกินที่อาศัยให้คนจน ดันธนาคารฯ เป็นองค์การมหาชน แก้ความเหลื่อมล้ำ ไม่ลืมทวงรบ.เรื่อง ‘โฉนดชุมชน-การปฏิรูปที่ดิน’
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ กองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า หลักการพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ผ่านมติครม.แล้ว นับเป็นเรื่องที่ดี แต่จะนำไปสู่หลักการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาคปท.ได้ร่วมกับนักวิชาการศึกษาแนวทางการกระจายการถือครองที่ดิน มีข้อเสนอในเรื่องภาษีที่ดิน คือ ให้มีการนำรายได้จากภาษีที่ดินส่วนหนึ่งมาจัดซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรยากจนและคนไร้ที่ดินทำกิน อีกส่วนหนึ่งนำมาปรับเปลี่ยนระบบการใช้ที่ดินของเกษตรกรในท้องถิ่น ให้มีความมั่นคงทางรายได้และสมดุลทางนิเวศน์ และการบริหารในระดับชาติควรจัดตั้งธนาคารกองทุนที่ดิน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการและนำรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีที่ดินไม่น้อยกว่า 2% มาสมทบส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้รัฐบาลควรดำเนินมาตรการด้านภาษี ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นในการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น การรับรองสิทธิ์ที่ดินคนจนที่ทับซ้อนกับรัฐในรูปแบบโฉนดชุมชน การเร่งปฏิรูปและจัดสรรที่ดินให้คนจน และการนำที่ดินป่าสงวนที่หมดสัญญาเช่าจากเอกชนมาจัดสรรให้กับคนจนที่ไร้ที่ดินทำกินด้วย
ขะที่ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงานศึกษาโครงสร้างระบบภาษี มาตรการการเงินการคลังและแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดิน กล่าวว่า การที่ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทยที่จะมีการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง เพราะคนที่มีทรัพย์สินเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการผลิตสินค้าและบริการสาธารณะต่าง ๆ ของรัฐ จึงควรจะเป็นผู้รับภาระทางภาษี ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็มีกำลังที่จะจ่ายภาษีให้กับรัฐได้ด้วย การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จึงเป็นการจัดเก็บภาษีที่มีความเหมาะสม
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวถึงรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ภาษีที่ดินนี้จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่จะนำไปพัฒนาแต่ละท้องถิ่นต่อไป ส่วนการจัดเก็บภาษีนี้จะช่วยเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ การใช้มาตรการทางภาษีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินได้ทั้งหมด รัฐบาลต้องมีมาตรการและเครื่องมืออื่นมาสนับสนุนด้วย โดยเสนอให้ธนาคารที่ดินควรเป็นองค์กรอิสระบริหารในรูปแบบองค์การมหาชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อเป็นกลไกพิเศษทำหน้าที่สนับสนุนการเข้าถึงที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยของคนจนเมืองและชนชั้นกลางระดับล่าง และในระยะยาวรัฐบาลต้องผลักดันให้มีพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อยกระดับกองทุนธนาคารที่ดินให้เป็นองค์การมหาชนให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นมาตรการที่ดีที่จะทำให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างและส่งเสริมให้มีการลงทุนทำการเกษตร เช่น การให้เช่าที่ดินเพื่อการเกษตร แต่ห่วงใยว่าที่ดินก็ยังไม่ตกถึงมือเกษตรกรคนไร้ที่ดินอยู่ดี จึงถือว่ายังไม่ได้เป็นมาตรการทางภาษีที่มีอัตราก้าวหน้ามากพอที่จะแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินได้ ดังนั้นถ้าจะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เงินภาษีที่เก็บได้ต้องนำมาจัดทำเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายโฉนดชุมชนเพื่อให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ได้ในระยะยาวด้วย