"คณะกก.ความเข้มแข็งชุมชนฯ" ลั่นปี 59 ผุด "5,300 ตำบลน่าอยู่" ตามเป้า “ทศวรรษท้องถิ่น"
พร้อมผุด 80 ตำบลศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ ด้านรอง ปลัดมท.วางเป้าอีก 5 ปี ได้ต้นแบบจังหวัดน่าอยู่ 5 แห่ง ก่อนขยายผลไปอีกเท่าตัว ส่วนผอ.ศูนย์วิจัยระบบพัฒนาสุขภาพชุมชน ตอกย้ำทำงานหนุนของดีในชุมชน เชื่อไม่นานเกินรอ อปท.จะเป็นตัวนำสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมความเข้มแข็งชุมชน
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการปฏิบัติที่ผ่านมาของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนฯ ในเวทีประชุม “ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทย”ครั้งที่ 31 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ "ทศวรรษการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น" โดยมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทำงานในนามสถาบันเครือข่ายทางปัญญาร่วมรับฟัง
คุณหญิงสุพัตรา กล่าวถึงผลการปฏิบัติงานขับเคลื่อนเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาตินี้ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงคณะทำงานที่ดูแลและเสริมการทำงานในภาพใหญ่ของการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เข้าไปสนับสนุนและเสริมในเรื่องดีๆ ที่ชุมชนต่างๆ ได้ทำไว้อยู่แล้ว อีกทั้งผลักดันกลไกหลัก แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ในการทำงานมิติชุมชนเข้มแข็งนี้ให้เกิดความเชื่อมโยงกันและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งการทำงานจะไม่เหมือนระบบราชการ ยึดหลักการทำงานให้มีความยืดหยุ่น พร้อมเข้าไปรับฟังเสียงชุมชนให้ได้ร่วมคิดร่วมทำด้วย รวมถึงผลักดันกลไกใหม่ๆ การทำงานมิตินี้ เช่น ขณะนี้กำลังจะผลักดันระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องของระบบเกษตรกรรม เป็นต้น โดยการทำงานทั้งหมดของคณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่คอยหนุนเสริมเรื่องดีๆ ที่ชุมชนร่วมกันคิดทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งได้วางกรอบการทำงานไว้ใน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2559
คุณหญิงสุพัตรา กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมายังต้องการโรดแมปการกระจายอย่างแท้จริงสู่ชุมชนท้องถิ่น ต้องมีการปรับบทบาทหน้าที่รัฐส่วนกลางกับท้องถิ่น จัดระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม หรือการเงินฐานราก ต้องมีระบบการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้แก่กันอย่างทั่วถึง รวมถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยกับชุมชนที่เข้มแข็งด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังต้องทำต่อไปอีก ขณะเดียวกันก็อยากให้ทุกฝ่ายได้รับฟังเสียงของประชาชนจริงๆ และฟังให้มากๆ
ขณะที่นายสมพร ใช้บางยาง เลขานุการคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยสามารถมีการสานต่องานต่อไปได้นั้น ในอนาคตต้องมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ช่วยท้องถิ่นปรับวิธีคิดใหม่ พัฒนาในสิ่งที่ขาดหายไป จัดการองค์ความรู้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยกันเองแบบขยายผลจากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเรียนรู้ในลักษณะวิธีคิดของแต่ละแห่ง ไม่ใช่เรียนรู้ที่ยึดถอดแบบตัวกิจกรรมชุมชน
“ตลอดการพัฒนาท้องถิ่น 10 ปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้มีท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการพัฒนาจำนวนมาก แม้เราจะไม่สามารถทำให้เข้มแข็งได้ทั้งหมดในเวลาที่รวดเร็ว แต่จากตัวอย่างที่ได้ทำมานั้น หวังว่าตั้งแต่ปี 2550-2559 จะมีศูนย์เรียนรู้ศูนย์ฝึกตำบลที่เข้มแข็งสามารถเป็นตัวอย่างได้ไม่ต่ำกว่า 80 แห่ง ซึ่งจะมีมากกว่านั้นถ้าช่วยกันจริงๆ อย่างน้อยจะมีตำบลแห่งการเรียนรู้ 5,300 แห่ง เชื่อว่าใน 10 ปีนี้จะมีอะไรที่ก้าวหน้ามากกว่านี้อีกเมื่อไปรวมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้ทำกัน อาจถึง 7,000 แห่ง ขณะนี้กำลังดำเนินการเปิดเวทีรับฟังเสียงจากประชาชนทั่วประเทศ เริ่ม 8 มิ.ย.นี้ ”รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว และว่า ภาพการขับเคลื่อนแผนภายในปี 2552-2557 ในเรื่องการพัฒนาขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่ ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะมีจังหวัดเข้มข้นในการเป็นต้นแบบจังหวัดน่าอยู่ 5 จังหวัด และจะมีจังหวัดขยายผลเรียนรู้อีก 10 จังหวัด ท้ายที่สุดอาจเกิดสภาประชาชน เข้ามาขับเคลื่อนงานสร้างความเข้มแข็งนี้ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีเป้าหมายทางการเมือง
ส่วนรศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบบพัฒนาสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักขับเคลื่อนการทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กล่าวถึงแนวคิดและหลักการทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นว่า การทำงานจะยึดโจทย์ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่นในการปฏิบัติงานการเสริมความเข้มแข็งท้องถิ่นที่ทำอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้องค์กรหลักต่างๆ ได้ทำงานร่วมกัน ได้ร่วมคิดและทำ มีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ขยายผลสู่ระดับชาติ มุ่งการทำงานที่เกิดส่วนร่วมระหว่างองค์กรชุมชน ท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือเอ็นจีโอร่วมกัน ซึ่งคิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าองค์กรปกครองท้องถิ่นจะเป็นตัวนำในการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมความเข้มแข็งชุมชน
ผอ.ศูนย์วิจัยระบบพัฒนาสุขภาพชุมชน กล่าวอีกว่า โครงสร้างขับเคลื่อนงานนั้นจะเริ่มจากที่ระดับตัวบุคคลต้องค้นหาคนดี เก่ง และคนที่ทำเรื่องดีๆ อยู่แล้วในชุมชนมารวมกลุ่มหรือองค์กรให้ร่วมคิดและทำแก้ปัญหาและสร้างชุมชนร่วมกัน แล้วขยายเป็นเครือข่ายและเป็นประเด็นงานที่ต้องทำร่วมกัน โดยมีตัวอย่างประเด็นการพัฒนาพื้นที่โดยชุมชนเอง เช่น การบริหารจัดการท้องถิ่น,การทำเกษตรกรรมที่ปลอดภัย , การสร้างเศรษฐกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชน ตลาดชุมชน กลุ่มอาชีพ, การสร้างการวิจัยชุมชน สร้างผู้นำชุมชน หรือให้การศึกษาทางเลือก, สุขภาพและสวัสดิการชุมชน ที่เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน การส่งเสริมรวมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ธนาคารความดี การออมวันละบาท รวมถึงการส่งเสริมกองทุนและสถาบันการเงินชุมชน, ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานมีการคิดถึงการจัดการขยะ พลังงานทดแทน รวมถึงความมั่นคงทางอาหารของชุมชน อีกทั้งมีการสร้างอาสาสมัครที่มีใจอาสาทำงานเพื่อชุมชน ซึ่งยึดรูปแบบกิจกรรมที่เน้นเรื่อง การพัฒนาระบบข้อมูลในพื้นที่ ,ส่งเสริมการรวมตัวของชุมชน,การดึงความรู้เดิมของคนในชุมชนออกมาใช้ ,การวิจัยสร้างความรู้ใหม่ให้ชุมชน โดยนำภาควิชาการมาช่วยเสริมท้องถิ่นในการสังเคราะห์ประเด็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่ชาวบ้านทำอยู่แล้ว,การสร้างระบบการสื่อสารทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงความรู้ชุมชนระหว่างกันอย่างทั่วถึงด้วย
ด้านนายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นให้ประสบสำเร็จนั้น ต้องให้ชุมชนทำงานร่วมกันโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปฏิบัติจริงแก่กัน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งที่จะขับเคลื่อนงานนี้ได้ ควรต้องก้าวข้ามจากความเป็นระบบราชการให้ได้ก่อน ต้องคิดให้นอกกรอบ ยึดหลักทำงานแบบบูรณาไร้พรมแดน และต้องไม่ให้ความสำคัญกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง