“วิถีบ้าน” ผ่านวิกฤติ บทพิสูจน์จากยอดดอยถึงมหาสมุทร
ควันหลงการสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่นยังคุกรุ่น ภัยพิบัติน้ำท่วม-ดินถล่มก็กระหน่ำ 10 จังหวัดภาคใต้ของไทยอย่างสาหัส ทุกมุมโลกเริ่มหวาดวิตกกับวิกฤติธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดา แต่ในมุมหนึ่งที่ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” จ.ชลบุรี พยายามบอกว่า “วิถีบ้าน จะช่วยให้ผ่านวิกฤติได้”
“สึนามิกับวิกฤติภัยแล้งในบ้านผมมันต่างกันแค่ขนาดความรุนแรงและลักษณะภัยพิบัติ แต่มันชัดเจนในแง่ของที่มาซึ่งธรรมชาติกำหนด มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้” ทินกร ปาโท หรือ “หิงห้อย” ผู้จัดการศูนย์กสิกรรมบ้านบุญ จ.ขอนแก่น เริ่มต้นและว่า
เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่าภาคอีสานแห้งแล้ง แต่ที่น่าสังเกตคือไม่มีประวัติศาสตร์ฉบับไหนที่บอกว่าอีสานล่มสลาย หรือคนอีสานจะเอาตัวตัวรอดไม่ได้ เพราะบรรพบุรุษให้ภูมิปัญญาสอนให้รู้จักปรับตัว ถ้าบอกว่าแล้งแล้วอยู่ไม่ได้คงตายกันหมดตั้งแต่ 3,000 ปีก่อน เพราะผืนดินแตกระแหงอย่างไร ก็ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน ยังคงระแหงอยู่ตรงนั้น
“จอมปลวก” ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง-แหล่งอาหารชุมชน
หิงห้อย อธิบายว่าวิถีบ้านที่ชาวอีสานใช้ผ่านวิกฤติแล้งมาหลายชั่วอายุคนคือการใช้โพนหรือจอมปลวกขนาดใหญ่ธรรมดาๆซึ่งมีมากในพื้นที่ เพราะในโพนมีธาตุอาหารจำนวนมากที่เอื้อต่อการเติบโตของพืช เพียงปลูกผักทุกชนิดที่กินได้ลงไป ก็ไม่อดอยากแล้ว แถมข้างใต้ยังมีน้ำบริสุทธิ์ดื่มกินได้
“แต่นักวิชาการมักแนะนำให้พังโพนถมเป็นที่ราบเพื่อปลูกอ้อยปลูกมัน และยังว่าในน้ำมีแบคทีเรียหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเป็นพิษ ทั้งที่บ้านผมเอามาทำลาบกินแซ่บทั้งหมู่บ้าน”หิงห้อย เล่าติดตลก
สุเมธ วิชัยวงศ์ ผอ.ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติน้ำเพียงดิน จ.หนองบัวลำภู เพิ่มเติมว่านอกจากโพนที่เป็นซุปเปอร์มาเก็ตยามเกิดภัยแล้ง ชาวอีสานยังเรียนรู้ที่จะทำนาข้าวแห้ง เสาะหาพันธุ์ข้าวที่ใช้น้ำน้อยปลูกแบบขุดหลุมหยอดเมล็ดแล้วเฝ้ารอให้ฝนตกเพียงนิดเดียวก็มีข้าวกินไม่อดอยาก
“ใครว่าอีสานแล้งให้จูงแขนเพิ่นมาเบิ่ง จะรู้อีสานในน้ำก็มีปลาในนาก็มีข้าว สำหรับผมวิกฤติธรรมชาติทำอะไรชาวอีสานแทบไม่ได้ แต่วิกฤติการพัฒนาแบบไม่ลืมหูลืมตาก็อีกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
“ดับไฟในใจคน” ก่อนดับไฟป่าฝ่าวิกฤติหมอกควัน
จากอีสานล่องขึ้นไปที่ จ.เชียงใหม่ วิรยุทธ์ สุวรรณทิพย์ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์กสิกรรมธรรมชาติดอยผาส้ม บอกเล่าว่า วิกฤติที่หลีกหนีไม่ได้ของชาวดอยอย่างเขาคือ “หมอกควัน” ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงดับไฟในป่า แต่ต้องรู้จักดับไฟในใจคนให้ได้ นั่นคือจะต้องทำให้คนที่เผาป่าเห็นค่าของต้นไม้ทุกต้น
ซึ่งแน่นอนว่า ชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่เป็นหลัก การถางเผาเพื่อปลูกข้าวเป็นวิถีที่เลี่ยงไม่ได้...
วิรยุทธ์ เล่าว่า ปรับมาใช้การทำไร่หมุนเวียน ปลูกพืชหลายๆชนิดในพื้นที่เดียว อะไรโตก่อนกินก่อน เผาครั้งเดียวทำกินได้ 7 ปีและยังรักษาความอุดมสมบูรณ์ในดินไว้ได้ มีการใช้แนวคิดนาขั้นบันไดไม่ใช้พื้นที่ไหล่เขาลดการสูญเสียป่า และสร้างแนวกันไฟป่าเปียก ปลูกพืชอุ้มน้ำอย่างแฝก กล้วย ซึ่งจากงานวิจัยบอกว่ามีน้ำถึง 50 ลิตรต่อต้น ยิ่งปลูกเยอะเท่าไหร่ก็เหมือนเก็บน้ำไว้บนดอยเป็นร้อยๆลิตร แล้วทำฝายพอน้ำล้นก็ต่อท่อไม้ไผ่เข้าไปในป่า ป่าก็ชื้นไม่ติดไฟ
“ปีนี้เฉพาะที่ดอยผาส้มลดการวิกฤติหมอกควันได้เยอะ การแก้วิกฤติด้วยวิถีคนอยู่กับป่าใช้ได้เสมอ แต่กลัวภัยมนุษย์จากราชการ กรมป่าไม้ยังคงหลอกหลอนตามจับชาวเขาชาวด้วยข้อหาเผาป่าอยู่ร่ำไป”
คำพูดทิ้งท้ายของ วิรยุทธ์สะท้อนอะไร??
ข้ามพ้นวิกฤติหนี้ ด้วยทฤษฎีพอเพียง
“ก็สะท้อนว่าไม่เพียงแต่ธรรมชาติที่เป็นวิกฤติ แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้คนเราก้าวเข้าสู่วิกฤติได้ อย่างเรื่องหนี้สิน ตัวนี้ร้ายแรงไม่ใช่เล่นเหมือนกัน” ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปราชญ์เรื่องข้าว จากสุพรรณบุรี ซึ่งพิสูจน์การปลดหนี้กว่า 10 ล้าน ภายใน 17 ปี บอกและว่า
ขึ้นชื่อว่าเกษตรกร หนีวิกฤติหนี้สิ้นไม่มีทางพ้น สาเหตุหลักเป็นเพราะการทำนาเคมี ต้นทุนจึงสูงและทำให้ดินเสื่อมสภาพ จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินตายหมด เรียกว่า “แม่พระธรณีตาย” ซ้ำน้ำเน่าเสีย “พระแม่คงคาตาย” ด้วย เมื่อเห็นแบบนี้จึงปรับเปลี่ยนวิธี เริ่มด้วยการฟื้นดินเก็บจุลินทรีย์ (ดินบริสุทธิ์จากธรรมชาติ) มาเป็นน้ำหมัก เพื่อทำให้ดินย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ได้ สุดท้ายก็ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยพึ่งยา
“เมื่อก่อนใบไม้ร่วงไปเหมือนกระดาษเอสี่ใบเดียว ดินไม่ย่อยสลายให้ ก็ต้องกลับมาใช้เคมี กลับสู่วงจรเดิมๆ แต่พอดินดี น้ำก็อุดม คราวนี้เลิกโลภหันมาทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร คัดเลือกพันธุ์ข้าวเอง ทำเครื่องดำนาแบบไม่ใช่เครื่องยนต์ใช้แรงคน เครื่องสีข้าวในครัวเรือน ครบวงจรเบ็ดเสร็จ แทบไม่ต้องไปพึ่งข้างนอก” ลุงทองเหมาะ เล่าและทิ้งท้ายอย่างชวนคิด
คนภาคกลางทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง ไป ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เหมือนไปโรงพยาบาล คนต่อแถวกันเต็มไปหมด ทั้งที่เกษตรกรได้เปรียบเพราะรากฐานดีมีดินทำกิน มีซุปเปอร์มาเก็ตในบ้าน หากวิกฤติเกิดจากวิถี ก็น่าจะเรียนรู้เพื่อปรับวิถีเพื่อแก้วิกฤติบ้าง
สอดคล้องกับ กำนันเคว็ด ประวิช ภูมิระวิ คนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จากทุ่งตะโก จ.ชุมพร ซึ่งให้มุมมองว่า เมื่อก่อนพอเกิดน้ำท่วม ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากวิถีของตัวเองและภูมิปัญญาท้องถิ่น และเรียนรู้ที่จะตั้งรับเมื่อเกิดซ้ำ แต่วันนี้น้ำท่วมคนที่เดือดร้อนเลือกที่จะรอรับแต่ของแจก และเฝ้าติดตามข่าวสารจากหน้าจอสี่เหลี่ยมว่าจะมีใครหยิบยื่นอะไรให้บ้าง
น่าเวทนาที่สังคมซึ่งเคยพึ่งพาตนเองมาตลอด ต้องรอให้คนอื่น มาคอยป้อนอาหารถึงปาก..
“นี่เป็นวิกฤติของคนด้วยกันเอง ที่ถูกหลอมจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มน้อยมาสู่คนกลุ่มใหญ่ ถ้าหาทางแก้ไม่ได้สุดท้ายก็ยากที่จะผ่านวิกฤติได้ แต่อย่าหมดหวัง แสงสว่างปลายอุโมงค์ยังมีทุกหัวระแหง เพียงแต่ฟื้นวิถีเหล่านั้นขึ้นมาและจัดการให้เป็นระบบ” กำนันเคว็ด ทิ้งท้าย
………………………………………
แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าวิถีบ้านจะผ่านวิกฤติขนานใหญ่ แผ่นดินไหวหรือสึนามิถล่มได้ แต่บทเรียนทั้งหลายก็สอนว่า หากมนุษย์เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ก็ไม่ยากนักหากจะรอดพ้นได้ แต่ที่สะบักสะบอมทุกวันนี้ เพราะ “อยู่ไม่เป็น” และไม่พึ่งตนเอง.