คาดต้นมี.ค.ร่างระเบียบสำนักนายกฯ คลอดรองรับสถานภาพ “สปกช.”
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่โรมแรมรามาการ์เด้น คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ประเทศต้องปฏิรูปอย่างไรเพื่อเกษตรกรไทยพ้นวิกฤต” โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานประชุมว่า ปัจจุบัน เกษตรกรไทยมีปัญหาหลายด้าน จนคุณภาพชีวิตเสื่อมถอยลง มีเกษตรกรไทยมากกว่า 1.5 ล้านครอบครัว ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเช่าที่ดินเกษตรจากกลุ่มนายทุน อีกกว่า 70% มีหนี้สินล้นตัว มีโอกาสน้อยที่จะปลดหนี้ เพราะปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ปุ๋ย สารเคมีราคาแพง ราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร ถูกกลุ่มนายทุน พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบกดขี่ ทำให้คนรุ่นใหม่ทิ้งชีวิตชนบทมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อหาอาชีพที่มีรายได้ดีกว่า
“สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม(สปกช.) ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการสนับสุนการดำเนินการจาก สสส.โดยมีภาคีเครือข่ายภาคเกษตร ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรกรรมยั่งยืน การรักษาความมั่นคงทางทรัพยากรและอาหาร นักวิชาการและภาคการเมือง ร่วมบูรณาการระบบการเกษตรใหม่ร่วมกันทั้งระบบ อาทิ ระบบการผลิต การตลาด การเงิน ทิศทางความร่วมมือจากต่างประเทศ การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การศึกษา กฎหมาย เป็นต้น”
คุณหญิงสุพัตรา กล่าวต่อว่า ขณะนี้สปกช. อยู่ระหว่างการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตรากฎหมายรองรับสถานภาพ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล ซึ่งคาดว่าต้นเดือน มี.ค.ร่างระเบียบดังกล่าวจะออกมา โดยบทบาทของสปกช. มีหน้าที่ศึกษาสถานการณ์ หาแนวทางแก้ปัญหา และเสนอนโยบาย กฎหมายที่เหมาะสมต่อรัฐบาล รวมให้เป็นหน่วยงานให้ความรู้วิชาการเกษตรแก่ประชาชน ส่งเสริมการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างบทเรียน ข้อเสนอแนะ และเผยแพร่ข้อมูล นวัตกรรม การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย สุขภาวะที่ดีของผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรไทยเข้ามามีบทบาทหามาตรการแก้ไขปัญหา เพราะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบเกษตรเพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤต
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตร” ว่า ความยั่งยืนของเกษตรกรคือความยั่งยืนของสังคมทั้งหมด เพราะเกษตรกรรมเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก หากพัฒนาด้านการเกษตรให้เข้มแข็งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายใน 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน เน้นการผลิตเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ผลผลิตการเกษตรที่เหลือค่อยส่งไปค้าขาย ส่วนการเกษตรเพื่อการส่งออก หรือการค้าในระดับอุตสาหกรรมยังสามารถทำได้ โดยให้นักเศรษฐศาตร์คำนวณความเหมาะสมในด้านต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อ ภาครัฐควรจัดที่ดินทำกินให้คนไทยมากที่สุดหรือครอบครัวละ 5 ไร่ ส่งเสริมให้คนไทยมี 2 อาชีพ มีอาชีพหลักทำการเกษตรยั่งยืน เวลาที่เหลือทำอาชีพรอง เช่น การค้า รับราชการ พยาบาล เป็นต้น เป็นแนวทางทำให้คนไทยมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ บ่อเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้
“การเกษตรกรรมทำให้เกิดอาชีพ ต่างจากอุตสาหกรรมที่เน้นกำไร ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรรมจะทำให้คนมีอาชีพ ประเทศมีความมั่นคงทางอาหาร มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศและคนในสังคมทั้งหมด ที่ผ่านมารัฐสนใจพัฒนาประเทศจากส่วนยอดไม่สนรากฐาน จนทำให้สังคมเกิดช่องว่าง เกิดเป็นปัญหาคน ปัญหาสังคม จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่โดยการปฏิรูประบบเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย”
ราษฎรอาวุโส กล่าวถึง สปกช.ว่า จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมนโยบายจากฐานรากไปสู่ระดับชาติ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า การร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตรากฎหมายรองรับสถานภาพ ดีกว่าการเสนอครม. เพราะอะไรที่เสนอครม.เปลี่ยนรัฐบาลเวลาผ่านไปก็จะถูกยุบ แต่หากมีระเบียบสำนักนายกฯ จะทำให้การทำงานต่อเนื่อง ส่วนองค์ประกอบก็ควรมีงบประมาณสนับสนุนให้ภาคี นักวิชาการได้เคลื่อนไหวด้วย