ดร.อาทิตย์ ยันมีสิทธิ์ฝันปฏิรูปประเทศไทย ก้าวแรกชุบชีวิตเกษตรกรให้อยู่ดีมีสุข
ปรามาสไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ ปฏิรูปเกษตรครบวงจร เสนอตั้งองค์กรสินเชื่อและตลาดเพื่อการเกษตร เข้ามาชุบชีวิตเกษตรกรให้อยู่ดีมีสุขไม่ยากจน ทำได้เชื่อ ครัวไทยเป็นครัวโลกอย่างแท้จริง
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 25 ปี ถึง แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศมีแต่ความวุ่นวายเหมือนกับเด็กตีกัน เป็นประเทศที่ไม่มีกติกา และในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศจึงมีสิทธิ์ฝัน หรืออยากจะเห็นประเทศของเราเป็นแบบใด อยากมีชีวิตแบบไหน อยากมีความสงบ มีความเป็นธรรม ซึ่งการปฏิรูปฯ เป้าหมายต้องเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ
อธิการบดีม.รังสิต กล่าวถึงปัญหาใหญ่ที่สุดว่า ที่มองเห็น และไม่เห็นจะมีใครแก้ไขจริงจัง คือ ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะคนจนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเกษตรกร มีจำนวนมากถึง 5.7 ล้านครอบครัว การที่จะมาบอกว่าไทยจะเป็นครัวของโลก เชื่อว่าเป็นไปได้ ซึ่งต้องถามกลับว่า เราเคยทำอะไรที่เป็นการฟื้นฟูการเกษตรอย่างครบวงจรหรือไม่ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแรกของการปฏิรูปประเทศไทย ต้องปฏิรูปเรื่องการเกษตรครบวงจร คือ เกษตรกรต้องมีปัจจัยการผลิตครบถ้วน มีที่ดินทำกิน มีน้ำ มีปุ๋ย มีสินเชื่อ มีเทคโนโลยี มีการบริหารจัดการในเรื่องการผลิต ให้มีที่สุดมีประสิทธิภาพที่สุด เสร็จแล้วก็ต้องขายให้ได้ในราคาดีที่สุด ฉะนั้นเราต้องปฏิรูปทำทุกอย่างเพื่อให้เกษตรกรร่ำรวย ไม่ใช่เกษตรกรจน
“ในการประชุมของมหาวิทยาลัยรังสิตพูดเรื่องนี้ 2-3 ปีติดกัน เปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่นให้ได้เห็นว่า เนื้อวัวไทยเสือร้องไห้เราขายได้กิโลกรัมละ 170 บาท ขณะที่ญี่ปุ่นขายเนื้อโกเบปลีกกิโลกรัมละ 15,000 บาท และขายส่งกิโลกรัมละ 8,000 บาท ทำไมเกษตรกรญี่ปุ่นถึงรวย ทำไมเกษตรกรไทยถึงจน หรือลูกเมลอนไทยลูกละ 40 บาท ขณะที่มาสเมลอนของญี่ปุ่นขายลูกละ 3,600-4,600 บาท ทำอย่างไรเกษตรกรไทยถึงจะร่ำรวยบ้าง” ดร.อาทิตย์ กล่าว พร้อมเสนอวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบสังคมธรรมาธิปไตย คือ ใช้แนวทางสวัสดิการบวกกับสหกรณ์ จัดตั้งองค์กรสินเชื่อและตลาดเพื่อการเกษตร รวมเอาธนาคารเพื่อการเกษตร(ธกส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) มาตั้งเป็นองค์กรมหาชน โดยตัดอำนาจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังออกไป
นอกจากนี้ยังต้องตั้ง องค์กรสินเชื่อและตลาดเพื่อการเกษตร ในส่วนของจังหวัดและตำบลเพื่อจัดการด้านธุรกิจการเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้สินเชื่อ เรื่องเทคโนโลยีการผลิต และเรื่องการเพาะปลูก จากนั้นจึงนำเกษตรกรมารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ สหกรณ์ตำบล สหกรณ์อำเภอ สหกรณ์จังหวัด เพื่อช่วยวางแผนบริหารจัดการเรื่องการทำเกษตรกรรม โดยไม่ใช้แนวคิดโรงรับจำนำเหมือนธนาคารปัจจุบัน ที่เอาที่ดินมาตีราคาจำนองไว้แล้วนำเงินกู้ไปกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งต้องนำระบบประกันราคามาใช้อย่างจริงจัง องค์กรสินเชื่อและตลาดเพื่อการเกษตร ต้องทำงานโดยไม่หวังกำไร มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนและต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน
“เกษตรกรยังอ่อนแอเหลือเกินไม่สามารถช่วยตัวเองเลี้ยงตัวเองได้ องค์กรสินเชื่อและตลาดเพื่อการเกษตร จะเข้ามาชุบชีวิตเกษตรกรให้อยู่ดีมีสุขไม่ยากจน หากสามารถทำได้ตามระบบดังกล่าวเชื่อว่าครัวไทยก็เป็นครัวโลกอย่างแท้จริง ซึ่งยังมองไม่เห็นรัฐบาลไหนกล้าทำ”
ดร.อาทิตย์ กล่าวถึงปัญหาที่สำคัญอีกเรื่อง คือ เรื่องครู ว่า ควรใช้รังสิตโมเดลในการผลิตครู เลือกคนที่เก่งที่สุด มีพื้นฐานความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ จบการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อันดับสองเท่านั้นมาเป็นครู สนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท 2 ปี จากนั้นจึงจบกลับมาเป็นครู และต้องมีค่าตอบแทนสูงๆ รวมทั้งต้องไม่ให้ครูมีการแย่งตำแหน่ง
“รังสิตโมเดลเสนอว่า ให้เป็นครูตลอดอายุการทำงานโดยที่ได้ค่าตอบแทนเช่นเดียวกับครูที่อยู่ในฝ่ายบริหารเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนครู ให้เกษียณอายุ 70 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างครูที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการในระดับสูง ซึ่งนี่คือจุดบุกเบิกของการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง"